*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เชื่อมั่นทองทรุดสัญญาณดอกเบี้ยเฟดกดดัน ขณะสถิติทองในประเทศผันผวนสูงช่วง ก.ย.-พ.ย

ณ วันที่ 09/06/2558

HTML Editor - Full Version

     กรุงเทพฯ-ศูนย์วิจัยทองคำเผยดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน มิ.ย. 58 หดตัวลงหลังฟื้นตัวเดือนก่อน โดยปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดสะท้อนมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายน โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.11 จุด ลดลง 10.0 จุดจากเดือนก่อน ซึ่งได้รับแรงกดดันจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังย้ำการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ คาดทองคำในประเทศระหว่างเดือนเคลื่อนไหวในกรอบ 18,000-20,000 บาทต่อบาททองคำ ทองโลกมองกรอบ 1,140-1,260 เหรียญ ส่วนรายงานสถิติการปรับเปลี่ยนราคาทองคำในประเทศพบว่าช่วงเดือน ก.ย. – พ.ย. ราคาทองผันผวนกว่าปกติ ขณะการปรับเปลี่ยนราคาสูงขึ้นต่อเนื่องระหว่าง 2549-2558

     นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองคำในเดือนมิถุนายน น่าจะยังคงผันผวนอยู่เล็กน้อย และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะขึ้นสูงไปแตะอยู่ที่ 20,000 บาท และยังกล่าวเสริมถึงเรื่องของการนำเข้า – ส่งออก ทองคำในประเทศ ยอดการนำเข้าทองคำในระยะเวลา 4 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมานี้ มียอดประมาณ 67 ตัน ซึ่งถ้าหากคิดโดยเฉลี่ยต่อปี แสดงให้เห็นว่ายอดนำเข้าลดลงจากปี 2556 กว่า 50% โดยตลาดทองคำซบเซาอย่างเห็นได้ชัดต่อเนื่องจากปี 2557 ที่ผ่านมา

     นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายนหดตัวลงหลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.11 จุด ลดลง 10.0 จุด เป็นการปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายน แต่มองอ่อนตัวไม่มากเพราะค่าดัชนียังอยู่ใกล้ระดับ 50 จุด ขณะที่ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่าจะมีผลเชิงลบต่อราคาทองคำคือการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเน้นย้ำเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ส่วนปัจจัยบวกสำคัญคือการอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเชื่อว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากจากประมาณร้อยละ 40 ในเดือนก่อนเหลือเพียงร้อยละ 27 ในเดือนนี้ ซึ่งอาจจะทำให้การซื้อขายทองคำในประเทศในเดือนมิถุนายนอาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร

     ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยลดลง 6.06 จุดมาอยู่ที่ระดับ 49.94 จุด สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนและผู้ค้าทองคำเริ่มกลับมาวิตกต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และเริ่มไม่แน่ใจในการฟื้นตัวของราคาทองคำ แต่ยังเชื่อว่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าและเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

     โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,240-1,260 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,000-19,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

     นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำรายงานบทบาทหน้าที่ในการกำหนดราคาทองคำในประเทศ และสถิติการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำในประเทศ พบว่าการมีราคากลางสำหรับราคาทองคำในประเทศ และกำหนดมาตรฐานการซื้อขายทองคำในประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมทองคำมีการค้าขายที่ง่ายขึ้น เนื่องจากการสื่อสารทำได้ง่าย และผู้ค้ามีราคาอ้างอิงที่ใช้กำหนดราคา ขณะที่การปรับเปลี่ยนราคาทองคำในช่วงระหว่างปี 2549-2558 มีจำนวนการปรับเปลี่ยนราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกและค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น โดยปี 2554 เป็นปีที่มีการปรับเปลี่ยนราคาเฉลี่ยต่อวันสูงสุดที่ 3.463 ครั้งต่อวัน จากช่วงปี 2549 ที่ประมาณ 1.490 ครั้งต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันพบว่า เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ราคาทองคำมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือนมิถุนายน ฉบับเต็มได้ที่นี่

Free Web Site Counters
ผู้ชม