*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

กฏในการขายทองคำของธนาคารกลางขนาดใหญ่ หรือ Central Bank Gold Agreement (CBGA)

ณ วันที่ 13/08/2555

สวัสดีผู้ค้าทองคำทุกท่านครับ ย่างเข้าเดือนที่ 7 ของปี ต้องบอกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา สำหรับตลาดทองคำนั้น เรามีเดือนที่ตลาดสดใสอยู่ 2 เดือน คือมกราคมและกุมภาพันธ์หลังจากนั้นก็เข้าสู่ภาวะตลาดหมีแต่ก็เป็นธรรมดาของราคาสินทรัพย์นะครับที่มีขึ้นก็มีลง สำหรับฉบับนี้สาระน่ารู้ที่อยากจะเล่าสู่กันฟังคือกฏในการขายทองคำของธนาคารกลางขนาดใหญ่หรือ Central Bank Gold Agreement (CBGA) ซึ่งหลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว การศึกษาเรื่องกฏการซื้อขายนอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ด้านทองคำแล้วยังได้เห็นมุมมองของผู้ถือรายใหญ่อย่างธนาคารกลางสำคัญในชาติยุโรป ว่าในช่วงที่ผ่านมามีมุมมองเช่นไรกับทองคำ   
 
Central Bank Gold Agreement เริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2542 (ค.ศ. 1999) โดยในข้อตกลงเป็นการจำกัดจำนวนขั้นต้นในการขายทองคำของธนาคารกลางสำคัญโดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งปัจจุบัน Central Bank Gold Agreement (CBGA) อยู่ในฉบับที่ 3 (CBGA3)ในแต่ละฉบับกินระยะเวลา 5 ปี และมีกรอบในการขายในแต่ละปีในจำนวนที่ไม่เกินกว่าข้อตกลงที่ตั้งกันไว้
 
CBGA1 (27 ก.ย. 2542 – 26 ก.ย. 2547) กำหนดให้ธนาคารกลางที่อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์นี้ขายทองคำออกได้ไม่เกินปีละ 400 ตัน หรือ 2,000 ตัน ตลอดช่วงอายุ 5 ปีของสัญญา CBGA1 ธนาคารกลางออกขายจริงเต็มจำนวน คือ 2,000 ตัน โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ขายสูงสุด 1,170 ตัน รองลงมาคืออังกฤษ 345 ตัน และเนเธอร์แลนด์ 235.2 ตัน โดยมีช่วงปีที่ขายเกินกว่าจำนวนที่กำหนด 2ปี คือปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีจำนวนการขาย 404 ตัน และ418.1 ตันตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดีการขายตลอดช่วงสัญญาไม่เกินกว่าที่มีการตกลงกันไว้
 
CBGA2 (27 ก.ย. 2547 – 26 ก.ย. 2552) กำหนดให้ธนาคารกลางที่อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ขายทองคำออกได้ไม่เกินปีละ 500 ตัน หรือ 2,500 ตัน ตลอดช่วงอายุของสัญญา CBGA2 ธนาคารกลางทั้งที่อยู่ในกลุ่มยูโรโซน และนอกยูโรโซนขายรวมกัน 1,884 ตัน น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดให้ขายได้ โดยยอดการขายออกเริ่มลดลงในช่วงปี พ.ศ.2551- 2552 (ค.ศ. 2008- 2009) ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติ Subprime ในสหรัฐอเมริกา โดยในของ CBGA2 ผู้ขายรายใหญ่ คือฝรั่งเศสที่มีการขายกว่า 572 ตัน รองลงมาคือสวิตเซอร์แลนด์ 380 ตัน และธนาคารกลางยุโรป 271.5 ตัน การตัดสินใจในการที่จะให้ทองคำเป็นสัดส่วน 15% ของทุนสำรองธนาคารกลางยุโรปทำให้มีการขายทองคำออกในช่วงดังกล่าว โดยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 ธนาคารมีสัดส่วนที่เป็นทองคำกว่า 25% ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ยังทำสถิติการขายอย่างหนักตลาดช่วงอายุ CBGA2 นอกจากนี้ประเทศขนาดใหญ่อย่างเยอรมนี สเปนยังมีการขายอย่างต่อเนื่องรวมกันกว่า 267.3 ตัน เป็นสัดส่วนการขายของสเปน 241.8 ตัน และเยอรมนี 25.5 ตัน สะท้อนให้เห็นว่าชาติยุโรปยังต้องการปรับทุนสำรองให้มีสัดส่วนของทองลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงก่อนรวมยูโรโซนชาติเหล่านี้มีการสะสมทองคำไว้จำนวนมาก เมื่อรวมเป็นกลุ่มยูโรโซนแล้วจึงทำให้สัดส่วนทองคำเมื่อเทียบกับทุนสำรองอื่นมีอยู่จำนวนมาก
 
CBGA3 (27 ก.ย. 2552 – 26 ก.ย. 2557) ข้อตกลงในการขายทองคำในช่วงนี้มีการปรับลดลงเหลือ 400 ตันต่อปี รวมการขาย 5 ปี ไม่เกิน 2,000 ตัน โดยในช่วงเกือบ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมายอดการขายทองคำออกของธนาคารกลางในยุโรปมีน้อยลงมาก ยอดขายรวมกันสิ้นสุดวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 มีประมาณ 194.2 ตัน โดยกว่า 181.3 ตันเป็นการขายออกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งถือเป็นผู้ถือทองคำรายใหญ่อันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และเยอรมนี (ไม่รวมการถือครองของกองทุน) ส่วนธนาคารกลางในยุโรปชาติอื่นมีเพียงเยอรมนี กรีซและมอลต้าเท่านั้นที่มีการขายออกแต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งถ้าเทียบกับยอดที่สามารถขายได้รวมทั้งหมด 1,200 ตัน
 
ยังมีส่วนต่างให้ขายออกได้อีกกว่า 1,005 ตัน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทองคำของธนาคารกลาง ซึ่งช่วงหนึ่งเคยเป็นผู้ขายกลับกลายเป็นผู้ที่กลับมามีความต้องการเพิ่มขึ้นและอยากที่จะรักษาทองคำให้เป็นส่วนของทุนสำรองต่อไป ในภาวะที่สกุลเงินหรือ สินทรัพย์อื่นมีโอกาสที่จะด้อยค่าลงโดยเฉพาะเงินยูโร

 
อย่างไรก็ดีถ้าเราพิจารณาให้รอบด้านเราอาจจะมองการขายออกทองคำได้เป็นสองโอกาส ประการแรกถือเป็นปัจจัยบวกของราคาทองคำเนื่องจากการชะลอการขายหรือการซื้อเพิ่มของธนาคารกลางจะเป็นการลด Supply ของทองคำในตลาด (Supply ทองคำ ประกอบจาก 3 ส่วน การผลิตใหม่จากเหมืองทอง การขายออกของธนาคารกลาง และการนำทองคำเก่าออกมาขาย) การลดลงของ Supply จะทำให้โอกาสที่ทองคำจะทรงตัวในกรอบสูงมีมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งการเหลือช่วงว่างจำนวนมากในการขายทองคำใน อนาคต เมื่อธนาคารกลางเริ่มที่จะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองอาจจะตามมาด้วยการขายทองคำจำนวนมาก ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางราคา ทองคำอย่างเลี่ยงไม่ได้ และต้องอย่าลืมว่าธนาคารกลางของประเทศในยุโรปถือเป็นกลุ่มธนาคารกลางที่ถือครองทองคำสูงที่สุดในกลุ่ม
ประเทศอื่น นับรวมแค่ 3 ประเทศคือเยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีรวมกันก็มากกว่าสหรัฐอเมริกา ประกอบกับทองคำที่ธนาคารกลางเหล่านี้ถือครองมีต้นทุนที่ต่ำมากจากราคาปัจจุบันการขายออกจึงอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งถ้าคิดว่าราคาทองคำจะอ่อนตัวลงและมีสินทรัพย์อื่นที่สามารถเข้ามาทดแทนในการเป็นทุนสำรองได้
 
ส่วนในไทยเองธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรอง ปัจจุบันเรามีทองคำในทุนสำรอง 152.4 ตัน หรือประมาณ 4.5% ของทุนสำรองทั้งหมด มีการถือครองเป็นอันดับที่ 25 ของโลก สูงกว่าสิงค์โปร์ อินโดนีเซีย รวมถึงแอฟริกาใต้ ที่เป็นประเทศผู้ผลิต ส่วนผู้นั่งแท่นเบอร์หนึ่งยังเป็นสหรัฐอเมริกา มีการถือครองกว่า 8,133.5 ตัน ส่วน IMF อยู่อันดับ 3 ถือครอง 2,814 ตัน (ข้อมูล World Gold Council เดือน มิถุนายน 2012)
 
โดย สมาคมค้าทองคำ
ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
 
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ