*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

น้ำมันพุ่งเกินร้อยเหรียญจากความเสี่ยงอียิปต์ ยาวหรือสั้น

ณ วันที่ 09/10/2556

“น้ำมันพุ่งเกินร้อยเหรียญจากความเสี่ยงอียิปต์ ยาวหรือสั้น”

            ขอเริ่มกันที่ราคาน้ำมันดิบหลังจากที่ทะลุผ่าน 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลและเป็นแรงหนุนให้กับราคาทองคำ อย่างที่เราทราบกันดีครับว่าทองคำถูกใช้เป็น hedging inflation หรือสินทรัพย์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ราคาน้ำมันก็ถือเป็นตัวกระตุ้นเงินเฟ้อหลักเพราะเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้ารวมถึงต้นทุนในการขนส่ง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และยังมีความวิตกว่าอาจจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องถ้าความวุ่นวายในอียิปต์ยังไม่ยุติ แต่ในมุมมองส่วนตัวผมมองว่าประเด็นนี้น่าจะไม่ยาวแม้จะมีความวุ่นวายต่อการเลือกตั้งใหม่และการต่อต้านของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในประเทศอยู่บ้าง

         เหตผลที่ผมเชื่อว่าน่าจะไม่ยาวนักเนื่องจากกลุ่มที่ปฏิวัติสร้างเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าจะเดินกลับไปสู่การเลือกตั้งในที่สุด และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการปฏิวัติแล้วก็ถือว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุน และก็มีเหตุผลในมุมของผู้ปฏิวัติ แต่ต้องเรียนก่อนว่าโดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าไม่มีเหตผลใดที่มีน้ำหนักเพียงพอให้ใช้การปฏิวัติ เพราะต้นทุนในการได้มานั้นราคาสูงมาก กลับมาที่เรื่องอียิปต์เท่าที่ผมติดตามผมคิดว่าผู้นำการปฏิวัติในอียิปต์มีแนวทางในการเดินหน้าและคำนึงถึงผลกระทบจากภายนอกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการวางกรอบเวลาสำหรับเดินหน้าสู่การเลือกตั้งใหม่เป็นการบอกว่าท้ายสุดประเทศจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้หลังจากที่การปฏิวัติเสร็จสิ้นลงยังมีการสนับสนุนจากกษัตริย์อับดุลลาห์ของซาอุดิอาระเบียซึ่งในทางการเมืองอาจจะไม่มีนัยแต่ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือให้รัฐบาลใหม่ก่อนที่จะนำพาไปสู่ทางออกอื่นในอนาคต  สิ่งที่น่าวิตกคือการลุกลามของความรุนแรงหลังจากมีการสังหารประชาชนในเมืองใหญ่อย่างไคโรและอเล็กซานเดรียที่อาจจะนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ  และอาจจะทำให้เรื่องลุกลามบานปลายได้

            ขณะที่ต้นเหตของการปฏิวัติมาจากนโยบายในการฟื้นฟูประเทศไม่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งรัฐบาลของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีต้องรับช่วงต่อจากรัฐบาลเผด็จการที่มีการคอรับชั่นมายาวนาน ประกอบกับรัฐบาลของนายมอร์ซีเน้นการรวมอำนวจ แม้จะมาจากการเลือกตั้งแต่เมื่อดูเผิน ๆ แล้วอาจจะคล้ายกับสมัยนายมูบารัคปกครองทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและมีการออกมาประท้วงอย่างกว้างขวาง โดยมีประชาชนนับล้านร่วมกันขับไล่ทำให้กองทัพตัดสินใจออกมาปฏิวัติในที่สุด โดยการปฏิวัติในครั้งนี้ก็แตกต่างจากเหตุการ “อาหรับสปริง” ที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอย่างที่เกิดในตูนิเซีย ลิเบีย รวมถึงอียิปต์สมัยนายมูบารัค ทำให้เชื่อว่าเหตุการน่าจะลดความตึงเครียดลงได้ถ้าไม่เกิดเหตุรุนแรงจนเกินไป

          ซึ่งถ้าประเด็นอียิปต์จบลงราคาน้ำมันก็น่าจะที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน เพราะความวิตกเรื่องการขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซจะลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอการฟื้นตัวลงก็น่าจะทำให้ Demand น้ำมันในตลาดโลกยังไม่หนุนให้ราคาปรับตัวสูงมากนัก โดยถ้าราคาน้ำมันกลับสู่ภาวะปกติแรงผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นก็น่าจะลดลงเช่นกัน

 

“แนวโน้มเศรษฐกิจหลังประชุม กนง.”

                อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยลง 0.25% สะท้อนการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกกับครึ่งหลังของปีดูจะแตกต่างกันเป็นหนังคนละม้วน โดยถ้าเราจำกันได้ในช่วงต้นปีการประเมินเศรษฐกิจในมุมมองต่าง ๆ ดูจะค่อนไปในเชิงบวกมาก ทั้งในด้านการบริโภค การส่งออก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมถึงแผนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในการประชุมวันที่ 20 กุมภาพันธ์ก็มองว่าเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นขณะที่เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ แต่วันนี้เราคงเห็นค่อนข้างชัดแล้วว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่เราเคยมองว่าสดใสในปีนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะจะการส่งสัญญาณชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯที่ทำให้มีการดึงเงินออกจากเอเชียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมาก หลายประเทศต้องดำเนินการในการดูแลค่าเงินมากขึ้น ขณะที่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันคือมีเงินไหลออกทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทำให้ค่าเงินบาทที่เคยกังวลว่าแข็งค่าเกินไปกลายเป็นอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และมีสัญญาณอื่นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาตามลำดับ

                โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในครั้งต่อ ๆ มาก็เริ่มมีสัญญาณให้เห็นตามลำดับ อย่างการประชุมในวันที่ 3 เมษายน เริ่มมีความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน ขณะปัจจัยในประเทศยังมองรายได้ภาคครัวเรือนและการจ้างงานในระดับสูงเป็นปัจจัยสนับสนุน ต่อด้วยแถลงผลการประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมาที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25basis point หรือ 0.25% จาก 2.75% เป็น 2.50% โดยเริ่มมองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำกว่าคาดเช่นกัน ส่งผลต่อการส่งออกไทย มีความกังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภูมิภาค ด้านปัจจัยในประเทศมองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้า อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยมีการประเมินว่ามีแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่จุดนี้คงตอบแทนคณะกรรมการทั้ง 7 ท่านไม่ได้แต่สิ่งที่เห็นคือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนไปจริงจากการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้า

              ล่าสุดผลการประชุมเมื่อวานผลออกมาตามที่คาดกันไว้ก่อนหน้าคือคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% พร้อมปรับลดเป้า GDP ลงซึ่งอาจจะต่ำกว่า 5% จากเดิมที่ประมาณไว้ 5.1%โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และยังเป็นระดับที่เป็นการผ่อนคลาย และพร้อมที่จะปรับนโยบายดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศลดลงอย่างมากในอนาคต สะท้อนว่าครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่สวยสดงดงามมากนักจาก 2 ประเด็นกดดัน ประการแรกคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่าจะชะลอลงจริงทั้งจากอุปสงค์ที่ชะลอตามเศรษฐกิจ และผลที่เกิดจากการคุมนโยบายมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาจากการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ความผันผวนในตลาดจากการโยกย้ายของเงินจะทำให้ระดับความเชื่อมั่นในการลงทุนอาจจะชะลอตามด้วย ขณะที่ภาครัฐเองก็เร่งใช้จ่ายได้ลำบากจากเงื่อนไขทางกฏหมายและการเมือง ด้านการส่งออกก็ชะลอตามอุปสงค์ของคู่ค้าหลักทั้งจีนและยุโรป ประการที่สองคือด้านการบริโภคในประเทศ ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ ธปท. กังวลคือระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะไปเบียดบังการบริโภคและทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศได้ลดลงจากที่คาดการณ์กันไว้

    สำหรับตลาดการลงทุนในช่วงครึ่งหลัง จะหวังว่าตลาดจะสดใสเหมือนไตรมาสแรกของปีคงเป็นไปไม่ได้จากเงื่อนไขเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ก็คงไม่ได้เลวร้ายมากนักถ้าประเมินจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยผมเชื่อว่าอนิสงค์การเติบโตของกำไรในไตรมาส 1-2 จะช่วยให้ผลประกอบการทั้งปียังเติบโตได้ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีการชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งถ้าชะลอลงแรงจริงก็เชื่อว่าน่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการใช้จ่ายด้านการคลังเพื่อช่วยหนุนเพราะปัจจุบันทั้ง ธปท. และรัฐบาลยังพอมีกระสุนเหลืออยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความผันผวนโดยเฉพาะกับค่าเงินบาทที่เราต้องรับกับเงินทุนไหลเข้าออกตลอดช่วงครึ่งหลังของปีจากผลกระทบเรื่องการชะลอหรือไม่ชะลอ QE

ภาพจาก : http://www.prachachat.net/