*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ลุยสัมผัสการร่อนทองคำบางตะพาน อีกหนึ่งตำนานการล่าทองคำในไทย

ณ วันที่ 19/11/2557

HTML Editor - Full Version

             หนึ่งในแหล่งร่อนทองของประเทศไทย จะต้องมีชื่อของ"ทองคำบางตะพาน" หรือ "ทองคำบางสะพาน" รวมอยู่ด้วย เพราะ ทองคำที่พบได้รับการยอมรับว่าเป็นทองคำที่มีความงดงาม สุกปลั่ง และเนื้อทองบริสุทธิ์

             แหล่งทองคำบางสะพาน เป็นอีกตำนานหนึ่งบทของการขุดหาทองคำในประเทศไทย  แม้ว่าจนถึงขณะนี้เวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานแล้ว และเทคโนโลยีการขุดหาทองได้พัฒนารุดหน้าไปมากแล้วแต่ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังคงมีชาวบ้านที่ยังสวมบทนักล่าทองคำ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบเดิมๆ ในการค้นหาสินแร่ที่ถือว่ามีค่า มีราคาอย่างมากในปัจจุบัน

   การมาตามหาทองบางสะพานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายนครชัย บุญเย็น หรือลุงจุ่น กรรมการ อบต.ร่อนทอง เป็นคนพาไปดูพื้นที่ที่ชาวบ้านมาร่อนทองกัน โดยลุงจุ่นเล่าว่า การหาทองคำที่ตำบลร่อนทอง ยังเป็นการหาทองคำแบบวิถีชาวบ้าน ซึ่งทำในลักษณะนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว และได้ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคในการร่อนหาทองคำจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนได้พึ่งตนเอง สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยชาวบ้านที่นี่จะใช้เวลาว่างจาก การปลูกสับปะรดมาร่อนทองเป็นอาชีพเสริม

     ลุงจุ่นยังได้เล่าถึงวิธีการร่อนทองของชาวบ้าน เริ่มต้นจากการไปเลือกพื้นที่ที่จะขุดดิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนว่าจะเลือกพื้นที่ตรงไหน โดยวิธีการเลือกจะต้องขยำดิน เพื่อดูลักษณะของดิน เพราะถ้าเป็นดินดูเหนียวก็อาจจะมีทองบ้าง แต่ก็จะน้อยกว่าพื้นที่ที่เป็นดินร่วน และวิธีการหาก็จะยุ่งยากกว่า จากนั้นก็จะขุดลึกเป็นบ่อลงไป ลึกบ้างตื้นบ้าง บางคนก็มาขุดซ้ำบ่อเดิม วันไหนมาไม่ทันมีเพื่อนบ้านมาขุดไปก่อน ก็ไปหาบ่อใหม่ขุด ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ของใคร 

            ส่วนวิธีการร่อนของแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัด บางคนชอบเลียงอันใหญ่ใส่ดินได้เยอะ ส่วนไม้ที่ใช้ทำเลียงก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ที่แตกยากๆ เช่น ไม้ขนุน บางคนใช้กระทะเหล็กมาร่อนก็มี แต่ข้อเสียของกระทะเหล็กคือ ลื่นง่ายถ้าคนร่อนไม่เป็นจะทำให้ทองไหลไปกับน้ำ แต่ถ้าเป็นเลียงไม้เยื่อทองจะเหลือติดก้น ส่วนดินทรายจะไหลขึ้นมากองตามขอบกระทะ ใช้เวลาร่อนไม่นานเศษดินก็หายไปจนหมด สิ่งที่เจอมีทั้งแร่และทอง แต่ส่วนใหญ่จะทิ้งแร่จะเอาแต่ทองอย่างเดียว 

            “การร่อนทองแต่ละวันไม่เคยนับว่าร่อนไปแล้วกี่กระทะ ยิ่งวันไหนทองติดดียิ่งไม่เคยนับ ร่อนเสร็จก็ขุดต่อๆ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะนับสัก 2 เที่ยวไม่ได้ก็จะย้ายบ่อขุดไปที่ใหม่ แล้วแต่ว่าวันไหนโชคดีก็ได้ทองเยอะ ส่วนทองที่ขุดได้นั้นส่วนหนึ่งเก็บไว้ดู เก็บไว้เป็นเครื่องประดับ อยู่กับดงทองแต่ไม่มีทองของที่นี่เลยก็กระไรอยู่ ทุกบ้านมีเกือบทุกครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย เดี๋ยวนี้ทองที่ขุดได้ก็มีราคาแพงขึ้น เพราะทองตามท้องตลาดราคาสูงขึ้น จากที่เมื่อก่อนราคาไม่แพง" ลุงจุ่นเล่า พร้อมยื่นทองคำที่พกติดตัวให้ดู

             ใครสนใจที่จะไปศึกษาเรียนรู้การร่อนทองที่เหมืองทองคำ ตำบลร่อนทอง ซึ่งเป็นเหมืองทองคำแบบไม่ทำลายระบบนิเวศน์ ก็สามารถเข้าไปติดต่อกับ อบต. ร่อนทองได้เลย แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนนะครับ

      

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 41 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557

Free Web Site Counters
ผู้ชม