*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ท่องเมืองกรุงเก่า แวะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชมความอลังการเครื่องทองคำกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

ณ วันที่ 10/07/2558

    พิพิธภัณฑ์ที่จะพาไปเยี่ยมชมถือว่ามีความน่าสนใจ แม้จะไม่ใหญ่โตอลังการมากมาย แต่โดยภาพรวมมีการจัดแสดงที่น่าชม โดยเฉพาะห้องที่โชว์เครื่องทองคำที่พบในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ พิพิธภัณฑ์ที่พูดถึงก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่ คือนำโบราณวัตถุและศิลปะโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา รัตนโกสินทร์ มาจัดแสดงในจำนวนไม่มากจนเกินไป พร้อมเทคโนโลยี QR Code มาคอยบอกเล่าข้อมูล ทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ โดยการจัดแสดงจะมีทั้งหมด 3 อาคาร

    สำหรับไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะอยู่ในอาคารแรกที่ชื่ออาคารเจ้าสามพระยา ในชั้น 2 จะมีห้องจัดแสดงชื่อห้องวัดราชบูรณะ เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ โดยเฉพาะเครื่องทอง อาทิ พระพิมพ์ทองคำ และเครื่องราชูปโภคทองคำ ทองกร พาหุรัตน์ ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง รวมถึงเครื่องทองอีกมากมาย

    

    สำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ พระแสงขรรค์ชัยศรี เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง พระปรางค์ทองคำและเจดีย์ทองคำที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในกรุ ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ล้วนแต่แสดงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีต

    สำหรับห้องที่จัดแสดงเครื่องทองเหล่านี้ แม้จะไม่กว้างขวางมากนัก แต่หากจะพิจารณาถึงความงดงามและศิลปะต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการประดิษฐ์ของแต่ละชิ้นอย่างละเอียดแล้ว ก็ต้องใช้เวลานานอยู่อักโข

    ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลและให้ข้อมูล ทำให้ทราบว่า ภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะมีกรุใหญ่และเล็ก กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะมีทั้งหมด 4 ห้องใหญ่ๆ เรียงกันลงไปแนวดิ่ง โดยชั้นล่างสุดอยู่ในแนวระดับพื้นดิน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2499 ถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่งลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน พบเครื่องทองและอัญมณีจำนวนมหาศาล แต่ทว่าฝนตกหนักและรีบเร่ง กลุ่มขโมยจึงขนของไปไม่หมดเจ้าหน้าที่ใช้เวลาไม่กี่วันก็จับและยึดของกลางได้บางส่วน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้เข้าบูรณะขุดแต่งต่อภายหลังพบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย

    นอกจากห้องที่แสดงเครื่องทองคำแล้ว ฝั่งตรงกันข้ามยังเป็นห้องวัดมหาธาตุที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดพบในพระปรางค์วัดมหาธาตุ และเครื่องประกอบพุทธบูชา สัญลักษณ์ มงคลต่างๆ รวมถึงพระพิมพ์ดุนทองและเงินที่ทรงคุณค่าและมีความงดงามเช่นกัน

  

    ส่วนศิลปะโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง อาทิ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณ วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเพราะในโลกมีเพียง 6 องค์เท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอู่ทอง ขนาดใหญ่ที่ได้จากวัดธรรมมิกราช ที่แสดงถึงความเก่าแก่ของวัด และฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา และเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย รวมถึงการจัดแสดงพระพิมพ์สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ภาพพระบฏสมัยรัตนโกสินทร์ ทวยเทพพากันมาบูชาพระธาตุจุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ถนนปรีดีพนมยงค์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปมาสะดวก และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาด หากได้ไปท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ที่มา : Gold Trip วารสารทองคำ ฉบับที่ 45 เดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2558