เครื่องประดับทอง และทองคำเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอินเดีย เนื่องจากเป็นของขวัญที่นิยมให้กันในงานพิธี และงานฉลองในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่งงาน ชาวอินเดียจึงมีความต้องการซื้อหาทองคำมาไว้ ในครอบครองอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมเมืองจากการเปิดเสรีการค้า และการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้นของอินเดีย ทำให้เกิดการเติบโตทางด้านการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในประเทศ ส่งผลให้ชาวอินเดียมีความสามารถในการตอบสนองสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น
แต่จากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกนั้นมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ผนวกกับปัญหาการขาดดุลบัญชี เดินสะพัดอย่างหนัก เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องหันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการนำเข้าทองคำมากขึ้น ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดกระบวนการลักลอบนำเข้าทองคำอย่างผิดกฎหมายขึ้นในประเทศ ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงการคลังของอินเดียจึงได้ริเริ่มโครงการ “ฝากทองไว้กับธนาคาร” (Gold Deposit Scheme: GDS) โดยมีจุดประสงค์เพื่อระดมทองคำภายในประเทศ ซึ่งซาวอินเดียส่วนใหญ่นิยมเก็บรักษาไว้ที่บ้าน หรือฝากไว้ตามร้านขายทอง โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ และจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีงานแต่งงาน หรืองานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสต่างๆ โดยจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.75 - ร้อยละ 1 ของราคาทองคำที่นำมาฝาก และเมื่อครบอายุการฝากทอง (สามารถฝากได้ ตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 7 ปี) ลูกค้าสามารถเลือกรับทองคำคืนในรูปของทองคำแท่งหรือเหรียญทอง (ความบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99) นำทองคำมาเข้าโครงการต่อเพื่อลงทุนใหม่ เงินสด หรือแม้กระทั่งโอนทองคำของตนไปยังบัญชีลูกค้ารายอื่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากการได้รับดอกเบี้ยคือ ลูกค้าจะได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการฝากทอง
นโยบายดังกล่าว นอกจากจะสร้างผลประโยชน์จากการลงทุนในรูปแบบของดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนแล้ว ยังช่วยให้ภาคประชาชนลดภาระจากการเก็บรักษาทองคำ รวมถึงยังเป็นการช่วยบรรเทาภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศด้วยการลดการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากนโยบายดังกล่าวในปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมทองแท่งของอินเดียได้เสนอโครงการ “บัญชีทองคำ” ต่อธนาคารชั้นนำในประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะมีลักษณะเหมือนกับการฝากเงินกับบัญชีเงินฝากประจำระยะเวลา 3 ปี แต่จะแตกต่างกันที่การใช้ทองคำ (ขั้นต่ำที่ 20 กรัม) ในการฝากเข้าบัญชีแทนเงินสด ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้าจะได้รับก็จะได้รับในรูปแบบทองคำเช่นเดียวกัน ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมสามารถเลือกฝากทองไว้กับธนาคารกลางอินเดีย หรือนำไปปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการผลิตและค้าเครื่องประดับก็ได้ ล่าสุดแผนการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากทางธนาคารกลางอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 นับว่าเป็นนวัตกรรมด้านการลงทุนที่ตอบโจทย์ให้กับวิถีชีวิตของชาวอินเดียได้เป็นอย่างดี
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ขอบคุณภาพจาก : www.businessinsider.com