*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ตัวอย่างฉลาก "ทองรูปพรรณ" ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนด

ณ วันที่ 15/02/2559

     ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศฉบับที่ 6 (พ.ศ.2544) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าควบคุมฉลาก และประกาศฉบับที่ 13 (พ.ศ.2546) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจร้านทองจะต้องจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผมจะสรุปง่ายๆ แบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. ป้ายชื่อร้านและที่อยู่ฯ

ร้านทองต้องติดป้ายชื่อร้านและที่อยู่ของร้านผู้ขาย, ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต โดยติดไว้ที่หน้าร้าน หรือภายในร้าน ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

  1. ราคาทองประจำวัน

ร้านทองต้องติดป้ายแสดงราคาทองคำแท่งขายออกและรับซื้อคืน ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ รวมถึงราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณในวันนั้น ๆ ด้วย โดยติดไว้ที่หน้าร้านหรือภายในร้านในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

  1. ป้ายฉลากสินค้าที่ถาดทอง

ประกอบด้วย ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู,  น้ำหนักทองรูปพรรณ โดยระบุหน่วยเป็นกรัม (1 บาท จะหนัก 15.16 กรัม) , ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ และเปอร์เซ็นต์หลังหลอม, ราคาค่าแรงหรือค่ากำเหน็จ ซึ่งสามารถกำหนดเป็นช่วงราคาได้ แต่ไม่ควรกว้างจนเกินไป

สำหรับบทกำหนดโทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมีการฝ่าฝืน

  • ผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ประเภทผู้ค้าปลีก โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ประเภทผู้ผลิต โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

>> ตัวอย่างฉลากทองรูปพรรณให้เป็นไปตามที่ สคบ.กำหนด <<

ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนมกราคม 2565