จัตุรัสเทียอันเหมิน ที่มา www.wikipedia.org
ยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของประเทศจีน เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติ โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ มีนโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง เพื่อจัดการกับกิจกรรมภายในประเทศให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นสังคมใหม่ จึงมีการปรับโครงสร้างทางการเมืองและจัดระเบียบสังคมใหม่ที่เรียกว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โดยใช้ขบวนการเรดการ์ด หรือเยาวชนพิทักษ์แดง ที่มีสมาชิกเป็นเด็กวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย หลายล้านคนทั่วประเทศ มาร่วมกันสังคายนาสังคมให้เป็นไปตามหลักการของประธานเหมาฯ
ภายหลังเมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ได้ลดบทบาทของอุดมการณ์และแนวคิดของประธาน เหมา เจ๋อตุง เพราะเห็นว่านโยบายนั้นมีความถูกต้องเพียง 70% แต่ผิดพลาดถึง 30% จึงให้มาพัฒนาประเทศโดยดำเนินนโยบาย 4 ทันสมัยแทน คือให้จีนเป็นประเทศสังคมทันสมัย 4 ด้านประกอบด้วย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเริ่มเปิดประเทศให้มีการติดต่อรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
การปฏิรูปอุตสาหกรรมในยุคนี้เอง ที่เริ่มมีการลดอำนาจของส่วนกลางในการตัดสินใจ และการบริหารไปยังผู้จัดการวิสาหกิจของรัฐมากขึ้น แทนการควบคุมจากพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มวลชนเป็นเจ้าของ เช่น ตำบล หรือหมู่บ้าน เป็นต้น ให้ดำเนินการเป็นรูปของบริษัทวิสาหกิจทั้งหมด ที่รับผิดชอบต่อกำไรและขาดทุนเอง
|
|
|
ภาพวาดมังกรจีน ที่มา twitter.com/MHuzaifaNizam |
ประเทศจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองจากพรรคก๊กมินตั๋ง ของนายพล เจียง ไคเช็ค มาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยประธานเหมา เจ๋อตุง ทองคำในประเทศแทบจะไม่มีเหลือหลังจากที่ เจียง ไคเช็ค ได้ขนทองคำมากกว่า 100 ตัน (หรือประมาณ 2.6 ล้านตำลึงทอง) ไปยังเกาะไต้หวัน การทำเหมืองทองคำ เพื่อสะสมทองคำสำรองในประเทศก็เริ่มเกิดขึ้นใหม่อีกรอบในปี พ.ศ. 2492 จนสามารถสะสมทองคำในประเทศได้ถึงประมาณ 4 ตัน คิดเป็น 1% ของทองคำสำรองที่จีนมีในอีก 63 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2555 จีนมีมาตรการควบคุมการผลิตและการครอบครองทองคำอย่างเคร่งครัดจนทำให้มีทองคำสำรองในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 14 ตันในช่วงปี พ.ศ. 2518 แต่ก็ยังคิดเป็นปริมาณไม่ถึง 1% ของทองคำในตลาดโลก ในขณะที่การผลิตทองคำจากแอฟริกาใต้คิดเป็นปริมาณถึง 53% ของทองคำในตลาดโลก
จุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่พัฒนาการของตลาดค้าทองคำในจีนเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยรัฐบาลเริ่มเปิดให้มีตลาดค้าปลีกทองรูปพรรณและเครื่องประดับขึ้น และมีการผลิตเหรียญทองคำแพนด้า (Gold Panda) ขึ้นเป็นครั้งแรกโดย China Gold Coin General Corporation ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดทองคำโลกว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานเหรียญทองคำจากเอเชีย และในปีต่อมาสภาประชาชนได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายและการจำหน่ายทองคำรวมถึงเงินภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง โดยเป็นผู้กำหนดราคาสำหรับการซื้อการขายในตลาดค้าปลีก จนกระทั่งอีก 10 ปีต่อมาก็มีการเปิดตลาด เพื่อนำร่องเข้าสู่การค้าเสรี โดยยกเลิกการกำหนดราคาโดยภาครัฐ และปล่อยให้ราคาทองคำลอยตัวตามตลาดโลก
เหรียญทองคำแพนด้า (Gold Panda) ที่มา www.goldavenue.com
ในปี 2538 จีนได้มีทองคำสำรองเพิ่มเป็น 100 ตัน ซึ่งเทียบแล้วเป็นสัดส่วนราว 6% ของทองคำสำรองทั้งโลกในขณะนั้น ในปี 2543 รัฐบาลจีนได้มีมติเพิ่มแผนการเปิดเสรีตลาดค้าทองคำเข้าไปในแผน 5 ปียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารประชาชนแห่งชาติได้ประกาศยุติการควบคุมติดตาม ตลาดทองคำทั้งหมดในเดือนเมษายน 2544 และประกาศให้มีการวางระบบเพื่อเตรียมการต่อในอนาคต
อีกสองเดือนถัดมาจีนก็เริ่มใช้ระบบการแจ้งราคาทองคำแบบใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามราคาอ้างอิงทองคำของตลาดโลกเป็นครั้งแรก ในปี 2545 จีนได้เปิดตลาดแลกเปลี่ยนทองคำ The Shanghai Gold Exchange (SGE) อย่างเป็นทางการ โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 108 องค์กร ที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้สามารถเข้าทำการซื้อขายในตลาด SGE ได้ ถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับตลาดแลกเปลี่ยนค้าทองคำในจีน
นาย Wang Zhe ประธานของ SGE ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าราคาทองคำในประเทศจีนนั้น เป็นไปตามราคาทองคำของตลาดโลกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนโดยเด็ดขาด ความจริงจังของจีนทำให้ทองคำสำรองของประเทศในปี 2546 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 200 ตัน ในปีต่อมาเอกชน ทั่วไป ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายและถือครองทองคำได้
ตลาดค้าทองคำจีนได้รับความช่วยเหลือจาก World Gold Council ในปี 2549 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการซื้อขายทองคำแท่งในตลาด SGE ผ่านทางบริษัท China Gold Group แผนยุทธศาสตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจีนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก และในที่สุดจีนก็ได้เป็นผู้ผลิตทองคำที่ใหญ่ที่สุดในปี 2550 เพราะจีนสามารถผลิตทองคำได้มากถึง 270 ตัน เป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกเห็นว่า ยุคทองของการผลิตทองคำจากแอฟริกาใต้ที่ผ่านมากว่า 100 ปีนั้นได้จบลงแล้ว และจีนกำลังเข้ามาแทนที่แอฟริกาใต้ในศตวรรษนี้
จุดเปลี่ยนของการก้าวเข้าสู่ยุคร่วมสมัยเกิดขึ้นอีกในปี 2551 เมื่อ Shanghai Futures Exchange ภายใต้การอนุมัติของChinese Securities Regulatory Commission ได้ประกาศให้เริ่มมีสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าสำหรับนักลงทุน พร้อมกับที่จีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ทองคำสำรองของประเทศ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.054 ตันแล้วในปี 2552 ทำให้ชาติตะวันตก มองว่าจีนเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพล สำหรับยุคของสงครามการค้าในปัจจุบัน
ในปีเดียวกันนี้ธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับบัญชีสะสมทองคำ (Gold Accumulation Plan) เป็นการแสดงถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดค้าปลีกทองคำในประเทศจีน
การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจีนในปี 2543 ซึ่งเป็นครั้งที่ 12 ที่เรียกกันว่า Twelfth Five-Year Plan (ปี 2554-2558) ได้สะท้อนให้เห็นถึงการประกาศจุดยืนของจีนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับทองคำอย่างต่อเนื่อง คือมีการพัฒนาและเชื่อมโยงกันระหว่างตลาดซื้อขายทองคำในประเทศกับต่างประเทศ โดยให้สถาบันหลักทางการเงินหลายแห่ง เช่น People’s Bank of China, Shanghai Stock Exchange, Shanghai Futures Exchange และธนาคารเอกชนทั่วไป ประชาสัมพันธ์ แนวทางการพัฒนาตลาดทองคำในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้ธนาคารเอกชนปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ผลิตทองคำแท่งเพื่อนำไปลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ยังต่างประเทศ
ผลจากการผลักดันนี้ทำให้ในปีถัดมาคือปี 2544 ธนาคาร ICBC รายงานว่ามีบัญชีออมทรัพย์ ทองคำมากกว่า 1 ล้านบัญชีแล้วภายในเวลาเพียง 1 ปี และมี 14.4 ล้านสัญญา ซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่มีการ trading ในตลาด Shanghai Futures Exchange
ปี 2555 National Development and Reform Commission หรือคณะกรรมการพัฒนา และปฏิรูปแห่งชาติ ได้กำหนดให้เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ (Financial Center) ตามนโยบาย Twelfth Five-Year Plan เพื่อมุ่งเน้น เป้าหมายการเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่อง gold trading เพราะขณะนั้นตลาด SGE เป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำแท่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมีการซื้อขายทองคำแท่งในตลาด SGE ถึง 117 ตันแค่ภายในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2556 เป็นการส่งสัญญาณว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดทองคำแล้ว จนต่างชาติได้จัดอันดับให้จีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตของตลาดทองคำและอัญมณีที่เร็วที่สุดของโลก ซึ่งในขณะนั้น จีนมีกำลังผลิตทองคำเพิ่มขึ้นถึง 400 ตัน หรือประมาณ 14% ของการผลิตทั้งโลก และสมาคมทองคำของจีน ได้ประเมินการถือครองทองคำของเอกชนนั้น อยู่ที่ประมาณ 5 กรัมต่อหัวของประชากร แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของการถือครองทองคำในอนาคตของจีน
การที่พญามังกรจีนได้พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างรวดเร็ว และมีแผนการพัฒนาประเทศทุกด้าน ที่ต่อเนื่องยาวนานถึงหกสิบปี ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการลงทุนและเศรษฐกิจโลก บทความนี้ได้ลำดับเวลาของการเกิดองค์กรสำคัญๆ ที่นำไปสู่พัฒนาการของตลาดทองคำในจีนจนถึงทศวรรษที่แล้ว
ตอนต่อไปเราจะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของตลาดทองคำจีนในทศวรรษนี้
อาคาร Shanghai Future Exchange ที่นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 58 เดือน กรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. 2562
เอกสารอ้างอิง
วีระชัย โชคมุกดา. (2558). ประวัติศาสตร์จีน มหาอำนาจ ผู้กุมชะตาโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซี สำนักพิมพ์.
Shih-hui Li. (2005). The Currency Conversion in Postwar Taiwan: Gold Standard from 1949 to 1950. The Kyoto Economic Review 74(2): 191 -203.
Shen Xiangrong. (2003). The Shanghai Gold Exchange – The Dawn of a New Era. Speech of Chairman of the Board, Shanghai Gold Exchange in the LBMA Precious Metal Conference 2003, Lisbon : 79-82. Retrieved February 23, 2019, from http://www.lbma.org.uk/assets/4b_shen_lbmaconf2003.pdf
Gold University-BullionStar. Chinese Gold Market. Retrieved February 25, 2019, from https://www.bullionstar.com/gold-university/chinese-gold-market
World Gold Council. 2014. China’s Gold Market: Progress and Prospects. Retrieved February 26, 2019, from https://www.gold.org/sites/default/files/China%20gold%20market%20%20progress%20and%20prospects.pdf