*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เปิดตำนานสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำในเมืองไทย (ตอนที่ 3)

ณ วันที่ 12/06/2566

เรายังคงอยู่กับ 10 อันดับสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ ที่ผ่านมา คุณพิศาล เตชะวิภาค หรือ “อาจารย์ต้อย เมืองนนท์” รองนายกสมาคม ผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย คนที่ 1 และยังเป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ได้ให้ข้อมูลกับ  สุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ ไปแล้ว 2 อันดับ ต่อไปจะมาดูกันต่อ ในอันดับ 3 และ 4

   

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม

เหรียญที่มีความเก่าแก่อันดับ 3 และเป็นเหรียญสุดท้ายที่สร้างก่อนปี พ.ศ. 2470 นั่นก็คือ เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังวรวิหาร บางขุนเทียน  ธนบุรี สร้างเมื่อปี 2467  โดยพระภาวนาโกศลเถระหรือ หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร หรือ ท่านเจ้าคุณเฒ่าเพื่อแจกจ่ายแก่พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งนี้หลวงปู่เอี่ยมเป็นพระที่มีผู้นับถือมาก ตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงคนชั้นสูง

สำหรับ “เหรียญหลวงปู่เอี่ยม รุ่นแรก ยันต์สี่ พ.ศ. 2467” ถือเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ยอมให้มีการทำเหรียญที่ระลึกขึ้น มีทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง อีกทั้งสร้างแบบพิเศษขึ้นอีกหลายอย่าง อาทิ ทำพื้นเงิน องค์พระฉลุด้วยทองคำดุนนูน พื้นเงิน องค์พระฉลุเป็นนาค เหรียญทองคำลงยา เป็นต้น ซึ่งเนื้อที่เป็นทองคำสร้างขึ้นหลายแบบ แต่เหรียญที่แพงที่สุดตอนนี้คือเหรียญทองคำลงยาวดี (ราชาวดี) เป็นยันต์ สี่  ซื้อขายล่าสุด 32 ล้าน อยู่ในความนิยมสูง โดยยันต์ห้า สร้างปี 2469

   

เหรียญพระแก้วมรกต

อันดับ 4 ซึ่งจะเป็นเหรียญแรกที่สร้างหลังปี พ.ศ. 2470 ขึ้นมา คือ เหรียญพระแก้วมรกต 2475 (บล็อกนอก) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “รุ่นฉลองพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475” สร้างในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี เพื่อเป็นการสมโภชพระนคร และเพื่อแจกเป็นที่ระลึกแด่ผู้สละทุนทรัพย์ร่วมในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการสร้างเหรียญเป็นจำนวนมาก แต่ละประเภทสร้างหลักหมื่นองค์ แต่เหรียญทองคำสร้างประมาณ 400-500 องค์ โดยส่งไปที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้ปั๊มเหรียญขึ้นมา ต้องเป็นบล็อกนอกเท่านั้น ไม่มีบล็อกไทย 

ในปีนั้นการปลุกเสกมีพิธีใหญ่มาก เกจิมาจากทั่วประเทศ ปลุกเสกหลายวัน เป็นเหรียญอยู่ในความนิยมแต่ต้องเป็นบล็อคนอก ซึ่งมีเนื้อทองคำและเงิน

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 65 เดือน เมษายน - พฤษภาคม 2564