สภาทองคำโลก หรือ World Gold Council รายงานความต้องการทองคำ (Gold Demand Trends) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยระบุถึงความต้องการทองคำของผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสู่ระดับ 9 ตัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะที่ความต้องการทองคำของทั่วโลก เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นจำนวน 1,258 ตัน ถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่น่าจับตามองที่สุดเท่าที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการซื้อขายนอกตลาด (Over - the - Counter หรือ OTC) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 329 ตัน
ความต้องการทองคำในการซื้อขายนอกตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมกับการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง และกระแสการไหลออกของการลงทุนที่ช้าลงในกองทุน ETF ทองคำ ได้ผลักดันให้ราคาทองคำในไตรมาสที่ 2 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,338 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,427 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในไตรมาสที่ 2
ด้านธนาคารกลางและสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้เพิ่มการถือครองทองคำทั่วโลก 183 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ชะลอตัวลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 6% หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากรายงานผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางโดยสภาทองคำโลก ได้ยืนยันว่า ผู้จัดการด้านทุนสำรองเชื่อว่า สัดส่วนการถือครองทองคำของธนาคารกลาง จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
ภายในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อน
ความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนในระดับโลกนั้นยังคงแข็งแกร่ง โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่จำนวน 254 ตัน
อย่างไรก็ตาม หากมองในรายละเอียดจะพบว่า แต่ละตลาดมีทิศทางที่แตกต่างกัน ในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการทองคำแท่ง และเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นจำนวน 7 ตัน เนื่องจากนักลงทุนได้ใช้ทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
แต่ระดับการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกนั้น กลับลดลง 5%
อยู่ที่จำนวน 261 ตัน สำหรับไตรมาสที่ 2 เนื่องจากความต้องการในเหรียญทองคำได้ลดลงอย่างมาก และแม้ว่าความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนของร้านค้าปลีกในทวีปเอเชียจะแข็งแกร่ง แต่ก็ได้ถูกลดทอนโดยระดับความต้องการสุทธิที่ลดลงของภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่มีการเทขายทำกำไรเพิ่มขึ้นในบางตลาด ด้านกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกของไตรมาสนี้พบว่ากระแสการลงทุนมีทิศทางไหลออกเล็กน้อยเป็นจำนวน 7 ตัน
ส่วนภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้าน ETF ทองคำในยุโรปซึ่งมีกระแสการลงทุนไหลออกจำนวนมากในเดือนเมษายน ปัจจุบันได้เปลี่ยนทิศทางเป็นการไหลเข้าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนในภูมิภาคอเมริกาเหนือนั้นการไหลออกของการลงทุน ETF ได้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
อย่างไรก็ตาม ความต้องการเครื่องประดับทองคำในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น
12% จากปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 2 ตัน ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียมีความต้องการลดลงในไตรมาสที่ 2 นี้
ภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ความต้องการทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณความต้องการในไตรมาสที่ 1 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโต 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากปีที่ผ่านมา ยอดรวมของอุปทานทองคำเติบโตขึ้น 4% โดยสาเหตุหลักมาจากการผลิตทองคำของเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น 929 ตัน ในขณะที่การรีไซเคิลทองคำได้เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งถือเป็นปริมาณสำหรับไตรมาสที่ 2 ของปีที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555
คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ทิศทางของประเทศไทยสวนทางกับแนวโน้มในระดับโลก สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แม้ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ก็ตาม เราพบว่าความต้องการเครื่องประดับทองคำของไทยเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 2 ตัน เนื่องจากผู้บริโภคตอบสนองต่อการปรับตัวของราคาทองคำในช่วงกลางไตรมาส และใช้จังหวะนั้นเป็นโอกาสในการเข้าซื้อก่อนที่ราคาจะกลับมาสู่ทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง ขณะที่การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำในประเทศไทยได้เติบโตอย่างน่าทึ่งและเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 7 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และการที่แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการลงทุนในทองคำได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของการลดความต้องการของทองคำแท่งและเหรียญในปัจจุบัน”
คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน)
และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก
แม้ว่าอาจมีอุปสรรคที่เป็นแรงต้านต่อทองคำในอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตลาดโลก ซึ่งน่าจะสนับสนุนและเพิ่มระดับความต้องการของทองคำได้ รวมถึงการที่ประเทศอินเดียลดภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศไม่นานมานี้ อาจจะสร้างเงื่อนไขเชิงบวกให้กับความต้องการทองคำ เนื่องจาก อัตราภาษีที่สูงของอินเดีย ได้ลดทอนความน่าสนใจการซื้อทองคำของผู้บริโภคในอินเดียก่อนหน้านี้
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q2-2024