HTML Editor - Full Version
ทองคำเปลว ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของไทย อันแฝงไว้ด้วยคุณค่าทางจิตใจ และธำรงไว้ซึ่งศรัทธาตามวิถีของคนไทย จนถึงขณะนี้แม้จะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีการใช้ทองคำเปลวเพื่อเป็นเครื่องสักการะทางศาสนาตั้งแต่เมื่อใด แต่ทว่าการใช้ทองคำเปลวในงาน วิจิตรศิลป์ มีหลักฐานว่าใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ซึ่งศิลปะนี้เดิมใช้เฉพาะในชนชั้นระดับสูง เช่น พระมหากษัตริย์ และในงานทางพุทธศาสนา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีช่างทองหลวงกลุ่มหนึ่ง นำความรู้เรื่องการตีทอง ทำทองคำเปลวจากในวัง มาทำเป็นอาชีพในย่านบ้านช่างทอง หรือบริเวณถนนตีทอง ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จากนั้นไม่นาน ความรู้ในการผลิตทองคำเปลว ได้ถูกถ่ายทอดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ย่านนี้เป็นแหล่งที่รวบรวม ผู้ผลิตทองคำเปลวมากมาย โดยบนถนนประวัติศาสตร์เส้นนี้ เชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง ความยาว 525 เมตร ต้นถนนจดบำรุงเมือง ก่อนถึงลานเสาชิงช้า หัวมุมถนน ด้านตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวราราม
ในอดีต เมื่อใครเดินทางผ่านย่านนี้ ก็จะได้ยินเสียงตีทอง “ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ” อันเป็นที่มาของชื่อถนนตีทอง และจากการเป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวขนาดใหญ่ และอยู่ใกล้วัดสำคัญมากมาย อย่างเช่น วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งใกล้กับย่านสำคัญอื่น อาทิ ย่านบ้านบาตร บริเวณถนนบำรุงเมือง ผลิตบาตร หนึ่งในอัฐบริขาร ของภิกษุ และบ้านพานถม บริเวณถนนพระเมรุ เขตพระนคร กลุ่มผลิตเครื่องเงินและเครื่องถม ทำให้สมัยนั้นถนนตีทองเป็น ย่านค้าขายที่คึกคักอีกแห่งหนึ่งของไทย
จวบจนกระทั่งประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา เสียงดังกล่าว ก็เริ่มแผ่วเบาลงไป เมื่อผู้ผลิตทองคำเปลวอันเป็นศิลป์เชิงช่าง 1 ใน 10 หมู่ของไทยเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้น แต่ราคาขายไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตาม เพราะมีพ่อค้าคนกลางคอยกดราคาจนทำให้ผู้ผลิตปิดตัวลงไปเรื่อย ๆ เพราะทนแบกต้นทุน ไม่ไหว ประกอบกับขาดการถ่ายทอด ความรู้จากช่างผู้เชี่ยวชาญ ที่มักจะถ่ายทอดให้เฉพาะลูกหลานเท่านั้น ขั้นตอนในการผลิตทองคำเปลวยุ่งยาก ซับซ้อนต้องใช้ความละเอียดพิถีพิถันสูง ส่งผลให้ปัจจุบันไม่มีการผลิตทองคำเปลวบนถนนแห่งนี้อีกเลย ทำให้สถานที่ที่เคยเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายทองคำเปลวสำคัญของไทย แปรเปลี่ยนเป็นบ้านเรือนสมัยใหม่ เหลือเพียงชื่อถนนตีทองไว้ให้ผู้คนรำลึกถึง
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการผลิตทองคำเปลวบนถนนตีทองอีกต่อไป แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีลูกหลานช่างทองคำเปลวบางส่วนที่ย้ายออกมาจากถนนตีทอง แล้วออกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในที่ต่าง ๆ เนื่องจากความต้องการทองคำเปลวในกิจกรรมพุทธศาสนายังคงมีอยู่ รวมทั้งมีการใช้ทองคำเปลวในกิจกรรมใหม่ ๆ เช่น การตกแต่งบ้าน ตกแต่งอาหาร และงานศิลปะ โดยปัจจุบันทองคำเปลวมีการผลิตอยู่ 2 ขนาด คือ “ทองจิ้ม” ทองคำเปลวขนาด 1.5x1.5 ซม. ราคาส่งแผ่นละ 1 บาท แต่เมื่อผ่านพ่อค้าคนกลางส่งถึงร้านต่าง ๆ 2-3 เท่าตัว ส่วนขนาด 4x4 ซม. หรือที่เรียกว่า “ทองเต็ม” ราคาประมาณ 5-7 บาท
ในการผลิตทองคำเปลว แม้เวลาจะเลยผ่านมากี่ร้อยพันปี กระบวนการผลิตก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และยังคงอาศัยความประณีต และพิถีพิถันในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเลือกซื้อทองคำแท่งที่มีเปอร์เซ็นต์ทองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 96.5-99.99 จากนั้นจะนำทองไปรีดให้เป็นแผ่นบางเท่ากับกระดาษ พับให้ได้หลายทบ และนำมาตัดให้เป็น “ทองรอน” หรือแผ่นทองคำขนาด 1x1 ซม. ซึ่งทองคำน้ำหนัก 1 บาทเมื่อนำมาตัดขนาดดังกล่าว จะได้แผ่นทองจำนวน 720 แผ่น โดยทองรอนเหล่านี้จะถูกนำไปใส่กูบ หรือกระดาษแก้ว ขนาด 4x4 นิ้ว ที่ผ่านการขจัดเศษผงออกมาหมดแล้ว และลูบด้วยแป้งหินเนื้อละเอียดมีน้ำหนัก เพื่อมิให้ทองติดแผ่นกระดาษแก้ว
ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ความพิถีพิถันและระมัดระวังเป็นอย่างสูง เนื่องจากจะต้องนำทองรอนมาวางตรงกลางกูบซ้อนกันให้ได้จำนวน 720 ชั้น หรือเทียบเท่าทองคำน้ำหนัก1 บาท จากนั้นกูบที่ทำจากกระดาษแก้ว จะถูกนำมาบรรจุในกูบหนังวัวอีกชั้น วางบนแผ่นหินแกรนิต หรือหินอ่อน มีไม้ประกบเป็นกรอบ และมี “ไม้กลัด” สอดด้านข้างซองหนัง ยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนที่เวลาตี จากนั้นตีด้วยค้อนที่ทำจากทองเหลืองน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่เหมะสมสำหรับการตีทองคำเปลว ตีในน้ำหนักที่เท่ากัน ประมาณ 1 ชั่วโมง จนทองเริ่มขยายเป็นแผ่นที่ใหญ่ขึ้น จึงเปลี่ยนไปใส่ใน “ฝัก” ซึ่งทำจากปลอกหนังคล้ายกูบ เพียงแต่แผ่นใหญ่กว่า
แผ่นทองที่มีความบางเฉียบ รอการตัด เรียงเเผ่นทองใส่กูบก่อนนำไปตีให้บางเฉียบ แผ่นทองที่ผ่านการตัดด้วยไม้เลี้ยะ
จากนั้นถ่ายทองลงบนกระดาษแก้วที่หนากว่าและโตกว่า ขนาด 6x6 นิ้ว ใส่ลงในซองหนังเรียกว่า “ฝักทอง” มีกรอบยึดและวางบนแท่นหินเหมือนระยะแรก ใช้ค้อนหนัก 4 กิโลกรัม ตีต่อไปอีก 4 ชั่วโมง ตีติดต่อกันจนเป็นทองคำเปลว โดยห้ามหยุดพัก เนื่องจากหากหยุดพักเพียงนาทีเดียวจะทำให้ความเย็นเข้าแทนที่ ทองขยายไม่ได้มากเท่าที่ควร ในขั้นตอนนี้การตียังคงต้องสม่ำเสมอ ต้องไม่ขาดหรือเกิน เพื่อให้ได้ทองคำแผ่ขยายมากที่สุด ซึ่งหากตีเบาเกินไป ทองคำเปลวที่ได้จะมีความหนาเกินไป ทำให้ขาดทุน แต่หากแรงจนเกินไปจนทองแตกไม่เป็นแผ่น นำไปตัดก็ได้ไม่คุ้ม เท่ากับว่าต้องเริ่มต้นใหม่ ด้วยการขูดเอาทองที่ตีแล้วไปหลอมเป็นทองคำแท่งใหม่
เหตุนี้การตีทองจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญ เทคนิค และจังหวะในการลงค้อน และที่สำคัญ ยังต้องใช้ความตั้งใจและความอดทน ซึ่งกว่าจะมาเป็นช่างตีทองคำเปลวเช่นนี้ได้ จะต้องผ่านการตีกระดาษเปล่ามานับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งในการตีทองคำเปลวยังไม่สามารถตีด้วยเครื่องจักรได้ เนื่องจากเครื่องจักรไม่สามารถผ่อนหนักผ่อนเบาได้ ยกเว้นจะใช้ในทองคำที่มีความบริสุทธิ์น้อย
ในขั้นตอนนี้จะทำให้ได้แผ่นทองที่ตีจะมีขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว และมีขนาดบางเฉียบพอเหมาะ คือความหนาไม่เกิน 0.5 ไมครอน และถ่ายทองไปใส่กระดาษสา หรือ “กระดาษดาม” เพื่อเตรียมตัดทองตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้อุปกรณ์เสริมคือ “ไม้เลี้ยะ” หรือไม้ไผ่เหลาจนคม และ “หมอนรองตัด” ที่ไม่แข็งหรือไม่นุ่มเกินไป และต้องทำในที่อับลม เพื่อไม่ให้ทองปลิวและย่นยู่ แล้วใช้ไม้รวกแซ ะทองวางบนกระดาษฟาง ด้านที่เนื ้อหยาบสาก ในการทำขั้นตอนนี้ช่างตัดทองคำเปลวจะต้องผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี ใช้ความระมัดระวังในการตัดทองเพื่อให้ได้แผ่นทองที่สมบูรณ์ มีรอยขาดให้น้อยที่สุด ซึ่งแผ่นทองคำเปลวที่มีขนาดสมบูรณ์ไม่มีรอยขาดจะเรียกว่า “แผ่นทองคัด” จะมีขนาด 4x4 ซม. และ 3.5x3.5 ซม. ส่วนแผ่นทองที่ขาดแล้วนำมาต่อกันจะเรียกว่า “ทองต่อ” จะมีขนาด 2.5x2.5 ซม. และ 1.5x1.5 ซม. ส่วนแผ่นทองที่เหลือจากการตัดจะถูกนำมารวมกันและเก็บใส่กล่อง เพื่อรอนำกลับไปหลอมใหม่ให้กลายเป็นทองคำแท่งอีกครั้ง
แผ่นทองบนกูบที่รอการตีทอง ไม้เลี้ยะ และเเผ่นทอง เศษทองที่รอการหลอมนำกลับมาใช้ใหม่
แม้การผลิตทองคำเปลวในสภาวะที่มีผู้ผลิตเหลือเพียงไม่กี่เจ้าในตลาด อย่างไรก็ตาม ธุรกิจทองคำเปลวก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากขั้นตอนการผลิตที่ต้องการความละเอียดประณีตแล้ว ยังมีเรื่องความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะทองคำแท่ง ทำให้การคำนวณราคาในการรับงานแต่ละช่วงจึงมีความสำคัญ ซึ่งหากมีการคำนวณราคาผิดพลาด ทองคำมีราคาสูงขึ้น หลังจากรับออเดอร์จากลูกค้ามาแล้ว ช่างทองจะต้องเป็นผู้แบกรับภาวะการขาดทุนไว้เอง รวมทั้งยังมีปัญหาการกดราคารับซื้อของกลุ่มผู้ค้าคนกลางและคณะกรรมการวัด ท่ามกลางที่ราคาวัตถุดิบอย่างกระดาษแก้วยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการตีทอง
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่างทองบางรายนำทองสังเคราะห์เข้ามาใช้แทน ซึ่งเมื่อใช้ไปนาน ๆ ทองจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ที่ทำให้ตลาดทองคำเปลวขาดความเชื่อถือ ตลาดทองคำเปลวสำหรับในกิจกรรมพุทธศาสนาเป็นตลาดงานศิลปะหรืองานตกแต่งบ้าน ธุรกิจสปา เครื่องสำอางแทน อีกทั้งเปลี่ยนช่องทางการจำหน่ายเพื่อหนีการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ด้วยการจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งได้ลูกค้าใหม่ ๆ จากช่องทางนี้ไม่น้อย
ตำนานแห่งทองคำเปลวคงจะไม่กลายเป็นเรื่องเล่าขานดังเช่นในอดีต หากคนไทยทุกคนมองเห็นในศิลปหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า และน่าจะร่วมกันคิดว่าจะร่วมอนุรักษ์ สืบทอด ประยุกต์ศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่ได้ด้วยวิธีใด
ที่มา : เล่าขานตำนานทอง วารสารทองคำ ฉบับที่ 25 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2553
ผู้ชม