ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน พฤษภาคม 2565 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จากระดับ 64.97 จุด มาอยู่ที่ระดับ 63.84 จุด ลดลง 1.13 จุด หรือคิดเป็น 1.73% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมา นั้น จะมีสาเหตุมาจาก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เริ่มคลี่คลาย ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น
คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 343 ตัวอย่าง พบว่า 55% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 25% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำ หรือไม่ และอีก 20% ยังไม่ซื้อทองคำ
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน พฤษภาคม 2565 จะลดลง มีจำนวน 6 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 4 ราย ส่วนที่คาดว่าใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน เมษายน 2565 มีจำนวน 3 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน พฤษภาคม 2565 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,833 – 1,969 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29,800 – 31,700 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 33.74 – 34.89 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนทองคำในเดือน พฤษภาคม 2565 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ถึงแม้แนวโน้มและทิศทางราคาทองคำในระยะยาวจะเป็นเชิงบวก แต่ก็จะเห็นแรงขายสลับออกมาบ้างตามความผันผวนของราคาทองคำ โดยราคาทองคำอาจพยายามแกว่งตัวเพื่อรักษาระดับและสร้างฐานราคา ซึ่งสามารถเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลง และหากราคาทองดีดตัวขึ้นให้รอขายทำกำไรบางส่วน หรืออาจชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูการสร้างฐานของราคา ทั้งนี้ ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญจากภาวะเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การกลายพันธุ์ของ COVID-19 นโยบายรัดเข็มขัดของธนาคารกลางในหลายประเทศ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ยังคงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือน พฤษภาคม 2565 ฉบับเต็มได้ที่นี่