สำนักงาน ปปง. สมาพันธ์และสมาคมผู้ประกอบธุรกิจรวม 7 แห่ง อาทิ สมาคมค้าทองคำ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการทางการเงิน และสมาพันธ์สมาคมอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า (ประเทศไทย) ร่วมแถลงการณ์เรื่องการยกระดับการกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ด้วยการสร้างความโปร่งใสป้องกันอาชญากร และสร้างความเชื่อมั่นอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยสรุปสาระสำคัญของโครงการได้ ดังนี้
1. สำนักงาน ปปง. จะให้การสนับสนุนสมาพันธ์ฯ และสมาคมฯ ในการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน (Industrial) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยสมาพันธ์ฯ และสมาคมฯ จะช่วยเป็นสื่อกลางในการกำกับดูแลกันเอง (Self-Regulatory Organization: SRO) และช่วยประสาน แจ้ง หรือประกาศ ให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน (Industrial) ดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมายหรือแนวทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด เช่น การให้ผู้ประกอบการดำเนินการลงทะเบียนในระบบสารสนเทศของสำนักงาน ปปง. (ระบบ AMRAC) ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ และสมาคมฯ จะสนับสนุนการปฏิบัติงานและเสนอแนวทาง หากเห็นว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
2. สำนักงาน ปปง. จะยกระดับการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยให้ผู้มีหน้าที่รายงานต้องมีนโยบายด้าน AML/CTPF รวมทั้งคู่มือและแนวทางปฎิบัติที่ออกโดยผู้บริหารระดับสูงของผู้มีหน้าที่รายงาน และต้องมีกระบวนการรู้จักลูกค้า (Know your customers: KYC) และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligent: CDD) ให้เป็นไปตามความเสี่ยงฯ เพื่อรายงานการทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด
3. สำนักงาน ปปง. จะยกระดับการกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รายงาน รายที่ไม่เข้ามาลงทะเบียนในระบบสารสนเทศของสำนักงาน ปปง. (ระบบ AMRAC) ซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งการเข้าตรวจสอบ ณ สถานประกอบการของผู้มีหน้าที่รายงาน เพื่อการตรวจสอบและตรวจทานการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน




