*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เจาะลึกตลาดค้าทอง “อินโดนีเซีย” อลังการทั้งภาคผลิตและภาคการค้าขาย

ณ วันที่ 21/04/2559

     หากจะดูจากพื้นที่บนบกกว่า 2 ล้านตารางกิโลเมตร ในทะเลอีกหลายล้านตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรกว่า 240 ล้านคนแล้ว ก็ถือได้ว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย น่าจะเป็นพี่ใหญ่ของประชาคมอาเซียน

     อินโดนีเซียมีการทำเหมืองทองคำมากมายจนติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีการผลิตทองคำให้ตลาดโลก โดยมีการผลิตทองคำเฉลี่ยกว่า 100 ตันต่อปี ซึ่งบางปีมีการผลิตสูงสุดเกือบ 200 ตัน และต่ำสุดมีเพียงประมาณ 7 ตัน

     ส่วนการถือครองทองคำในประเทศอย่างเป็นทางการมีเพียง 78.1 ตัน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลกตามรายงานของ World Gold Council ในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยกว่าเท่าตัว (ประเทศไทยถือครองทองคำ 152.4 ตัน อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก)

     การผลิตทองคำจากเหมืองในอินโดนีเซียมีส่วนแบ่งประมาณ 4% ของการผลิตทองคำในตลาดโลก ซึ่งส่วนมากก็มาจากเหมืองใหญ่อันดับหนึ่งของโลก คือ Grasberg mine ในจังหวัดปาปัว (Papua) ทางตะวันออกของประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ จากต่างประเทศที่ไปลงทุนทำเหมืองทองคำในอินโดนีเซีย เช่น Freeport McMoran (เจ้าของ Grasberg mine), Newcrest Mining (เป็นหุ้นส่วนของเหมือง Kencana mine) และ Newmont Mining Corp. (เป็นหุ้นส่วนของเหมือง Batu Hijau mine) เป็นต้น

    ส่วนบริษัทที่รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเจ้าของเอง (ถือหุ้นอยู่ประมาณ 65%) คือ PT Aneka Tambang (Antam) ที่เปรียบเสมือนรัฐวิสาหกิจของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่นี้เอง จึงทำให้มีกระบวนการที่ครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจเหมือง การถลุง การสกัด เพื่อให้ได้ทองคำบริสุทธิ์ ไปจนถึงกระบวนการผลิตทองคำที่ใช้ในอุตสาหกรรมทองคำแท่ง (cast bars, minted bars, dinar coins รวมถึงชิ้นส่วนในทางอุตสาหกรรม) และทองรูปพรรณ

    ความต้องการทองคำของผู้บริโภค (consumer demand in gold) ในอินโดนีเซีย จะนับได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องของทองรูปพรรณ และจิวเวลรี่ เพราะจากข้อมูล World Gold Council ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีปริมาณ 8.5 ตัน (ลดจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ปริมาณ 9.4 ตัน) เมื่อเทียบกับของประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ปริมาณ 0.6 ตัน และเวียดนาม ปริมาณ 2.3 ตัน แต่ปรากฏว่าข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการทองคำแท่งของผู้บริโภค ในประเทศนั้น มีน้อยกว่าประเทศไทยและเวียดนามค่อนข้างมาก คือ 2.4 ตัน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 (ของประเทศไทย ประมาณ 17.5 ตัน และเวียดนาม ประมาณ 13.3 ตัน)

    เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ดังนั้น ทองคำจึงเป็นสิ่งที่นิยมมาก ทั้งทองคำแท่ง และทองรูปพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองรูปพรรณ ซึ่งมีหลากหลายตั้งแต่ 14 carats ถึง 24 carats

    แต่ที่นิยมกันมากในกลุ่มชนชั้นกลางถึงชั้นสูงของชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะเป็น 18 carats (ทอง 75%) และ 22 carats (ทอง 91.6%) ส่วนกลุ่มชนชั้นล่างลงมาจะนิยมแบบ 24 carats (ทอง 99.99%) เพราะสามารถนำกลับไปขายได้ในราคาที่สูง

    ทั้งนี้ การผลิตทองคำแท่งและทองรูปพรรณมาจากแหล่งผลิตที่หลากหลาย เช่น จากบริษัท LOGAM MULIA ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของ PT Antam นอกจากนี้ ยังมีบริษัทคู่ค้ากับต่างชาติที่เปิดบริการขายทองคำแท่งมาตรฐาน เช่น PAMP (สวิสเซอร์แลนด์) โดยบริษัท PT Straits Bullion เป็นต้น

    ตลาดทองรูปพรรณในประเทศอินโดนีเซียในช่วงหลัง มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนเปิดสาขา ขายทองรูปพรรณในรูปแบบจิวเวลรี่ เช่น Tiffany, Carolyn Tyler รวมถึง Gold Master และ Pranda Jewelry จากประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งก็จะเน้นแนวทางการออกแบบสร้างสรรค์ในลักษณะเชิงวัฒนธรรมของประเทศ แหล่งซื้อขายทองรูปพรรณหรือทองคำแท่งในอินโดนีเซียมีมากมาย และกระจายไปตามเกาะใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น

  1. เกาะสุมาตรา (Sumatera Island) จะมีแหล่งใหญ่ อยู่ที่บันดาอาเจะห์ (Bandar Aceh) ในบริเวณที่เรียกว่า Jalan Tgk Chik Pante Kulu
  2. เกาะชวา (Java Island) จะมีร้านของ Logam Mulia ในเขต Surabaya และ Jogjakarta และร้านที่น่าเชื่อถือ เช่น Toko Aneka Logam, Jakarta Utara และบริเวณเขต Pasar Baru, Bandung แหล่งชอปปิ้งของคนอินโดนีเซีย และ นักท่องเที่ยวอยู่ในเมืองหลวงจาการ์ตาบนเกาะชวา ที่มีชื่อว่า Cikini Gold Center และ Melawei Plaza
  3. เกาะบอร์เนียว (Kalimantan or Borneo Island) จะมี ร้านค้าทองรูปพรรณในบริเวณ Pelangkaray ที่เขตส่วนกลาง และส่วนใต้ของเกาะ และเมือง Bontang ในแถบตะวันออกของ เกาะบอร์เนียว เป็นต้น

    จะเห็นได้ว่าแม้แต่มหาอำนาจตะวันตกยังเห็นศักยภาพของ แผ่นดินอินโดจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน และอินโดนีเซียก็เป็นพี่ใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน จำนวนประชากร และขนาดของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบธนาคารในประเทศ ที่ปัจจุบันค่อนข้าง แข็งแกร่ง และมีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรจะละเลยโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการเปิดเออีซี

    จากสถิติล่าสุดอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประกอบด้วยเกาะต่างๆ กว่า 17,000 เกาะ แต่ที่ใหญ่และสำคัญมีอยู่ 5 เกาะคือ เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะกาลิมันตัน เกาะสุลาเวสี และเกาะ ปาปัว มีชาวพื้นเมืองกว่า 500 เผ่า และภาษาพื้นเมืองกว่า 550 ภาษา โดยมีภาษาราชการที่ใช้ คือ ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)

    ประเทศอินโดนีเซียอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ เป็นเวลากว่าหลายร้อยปี เริ่มตั้งแต่ประเทศสเปน ฮอลแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ มานานที่สุดคือ กว่า 300 ปี

    สาเหตุที่ประเทศนี้เป็นที่หมายปองของชาวต่างชาติ ก็เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ที่หลากหลาย เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ เครื่องเทศ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ดีบุก ถ่านหิน ทอง เงิน เหล็ก ฯลฯ

    ประเทศอินโดนีเซียมีเอกราชเป็นของตัวเองหลังจากปี พ.ศ. 2488 และเริ่มการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบบสาธารณรัฐ โดยมี ประธานาธิบดีเป็นประมุขที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และใช้สกุลเงิน เป็น รูเปียห์ (Rupiah) ปัจจุบันมีอัตราแลกเปลี่ยน โดยประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 13,325 รูเปียห์ หรือ 1 บาท = 396 รูเปียห์ (ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2558)

ที่มา : Gold AEC วารสารทองคำ ฉบับที่ 46 เดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2558