รูปแบบของการถูกเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมลงทุนกระทำการใดๆ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก รายการทางโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง และตอนนี้ที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ รูปแบบของการออมทองผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ผู้บริโภคหลายรายกำลังตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสุดท้ายแล้วกลับไม่ได้รับทองคำและเงินที่ออมไปก็สูญหายไม่ได้คืน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคหลายรายด้วยกัน ที่ขอให้ช่วยเหลือกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการทำสัญญาผ่อนออมทองคำ เนื่องจากผู้ร้องส่วนใหญ่ได้ทำสัญญาผ่อนออมทองคำ โดยได้มีการชำระเงินโอนเข้าบัญชีไปยังบริษัทฯ ครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่ได้ส่งมอบทองคำให้กับผู้ร้องตามสัญญา และผู้ร้องบางรายชำระเงินไปได้บางส่วน แต่เมื่อเห็นว่าบริษัทฯ ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีการร้องเรียนและถูกดำเนินคดีอาญาจึงหยุดชำระเงินและแจ้งบริษัทฯ เพื่อจะบอกเลิกสัญญาแต่กลับไม่สามารถติดต่อได้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อย
สคบ. จึงขอเตือนผู้บริโภค หากต้องการฝากเงินเพื่อเป็นหน่วยในการออมทองคำ ควรมีการศึกษารายละเอียดการออมทองคำ ดังนี้
1. ผู้ประกอบธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
2. มีการกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระในการออมทองคำไว้อย่างไร
3. สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ในการออมได้หรือไม่
4. กรณีฝากเงินจนครบตามสัญญาผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดส่งทองคำ หรือกำหนดสถานที่รับทองคำไว้อย่างไร สามารถฝากขายหรือรับซื้อคืนทองคำจากผู้บริโภคได้หรือไม่
5. กรณียกเลิกสัญญาหรือยกเลิกการออมทองคำ ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอคืนเงินมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจออมทองหลายๆ แห่ง จะมีการจัดทำรายละเอียดการออมทองคำดังกล่าวไว้เป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภค
ดังนั้น ผู้บริโภคต้องมีการสอบถามข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน หากเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำธุรกรรมผ่อนทองคำ ต้องมีการสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจทันที เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้บริโภคและระมัดระวังการเอาเปรียบจากผู้ประกอบดังกล่าว
ที่มาข้อมูล : www.ocpb.go.th ( บทความ/ความรู้ผู้บริโภค วันที่ 29 มีนาคม 2560 )
ที่มาภาพ : www.matichon.co.th