*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ประเทศจีน ตอนกำเนิดพญามังกรแห่งโลกตะวันออก

ณ วันที่ 29/04/2563

เมื่อกว่า 5,000 ปีที่แล้ว จีนเป็นแหล่งกำเนิดหนึ่งของอารยธรรมสำคัญยุคเริ่มแรกของโลก และมีการสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านยุคที่ยิ่งใหญ่ดุจพญามังกรมาหลายครั้ง ดังที่ปรากฏให้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ และยุคเสื่อมโทรมซึ่งเกิดจากสงครามการต่อสู้ ความขัดแย้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ หรือการปกครอง จนถึงยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ที่จีนกำลังพลิกฟื้นประเทศให้กลับมาเป็นพญามังกรแห่งเอเชียอีกครั้ง ที่จะทรงอิทธิพล ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง และการทหาร ซึ่งโลกก็ต้องจับตาให้ความสำคัญกันต่อไป ซึ่งตอนแรกนี้เราจะมาสรุปโดยย่อเกี่ยวกับทองคำและชาวจีนตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ

จีนเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มระบบเงินตราของโลกในอดีตกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคสมัยโบราณ ราชวงศ์เซี่ย ที่เรียกว่า ฮั่วเป้ย เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งมีร่องเหมือนฟันกราม ใช้ในการแลกเปลี่ยนเพื่อชำระค่าสินค้า แตกต่างจากอาณาจักรบาบิโลนที่ใช้โลหะเงินแท่ง แต่หากจะกล่าวถึงเงินกระดาษ (Paper Money) หรือตั๋วแลกเงินตามที่เราได้เห็นมาในนวนิยายกำลังภายในนั้นมีจริง และเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อกว่า 1,000 ปี มาแล้วในยุคสมัยของราชวงศ์ถัง ซึ่งต่อมาก็มีการนำกลับไปเผยแพร่ต่อในยุโรปโดย มาร์โคโปโล พ่อค้าชาวเมือง เวนิส ประเทศอิตาลี

ความนิยมทองคำในอดีตนั้นมีให้เห็นจากหลายอารยธรรมเช่น ยุโรป อียิปต์โบราณ เอเชียตะวันตก และอินเดีย เพราะถือว่าเป็นโลหะที่มีค่าสูงและใช้เป็นเครื่องหมายแสดงความมีฐานะ ความสมบูรณ์พูนสุข และความยิ่งใหญ่ ส่วนอารยธรรมจีนโบราณนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับทองคำมากไปกว่าเพื่อการตกแต่ง เครื่องใช้เพื่อความสวยงามเท่านั้น ส่วนหยกหรือสัมฤทธิ์เป็นของมีค่ามาก เพราะชาวจีนเชื่อว่าหยกหรือสัมฤทธิ์ในเชิงสัญลักษณ์นั้นทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความสุขสงบ ความกล้าหาญ นิยมใช้เป็นเครื่องประดับล้ำค่าของชนชั้นสูงในสังคมจีน รวมถึงเป็นเครื่องใช้สำคัญของจักรพรรดิในแต่ละราชวงศ์

ส่วนทองคำนั้นเพียงใช้เป็นแค่เครื่องประดับเพื่อความสวยงามทั่วไปหรือเป็นส่วนประกอบในงานศิลปะเท่านั้น จากบันทึกในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา ดังคำที่ใช้เรียกในภาษาจีน ว่า จีน ซึ่งแปลว่าวัตถุหรือโลหะที่มีสีเหลือง

เหรียญทองที่ขุดพบได้จากสุสานของราชวงศ์ฮั่น
(ภาพจากสำนักข่าวซินหัว 28 ธันวาคม 2558)

นอกจากนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า เหรียญทองคำ (Gold Coin) เหรียญแรกที่มีการหล่อขึ้นในประวัติศาสตร์จีนเกิดขึ้นในแคว้นฉู่ของเล่าปี่ เรียกว่า Chu Gold Block Money มีการใช้ทองคำมากขึ้นในยุคสงครามที่เรียกว่า Six Dynasties of China คือในช่วงของสมัยสามก๊ก จนถึงสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ เพราะว่ามีการเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน จึงใช้ทองคำสร้างเจดีย์ทองคำ พระพุทธรูปทองคำ เพื่อกราบไหว้บูชาในสมัยนั้น

หากไม่นับอารยธรรมจีนก่อนสมัยประวัติศาสตร์แล้ว จีนสามารถแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ

1. ยุคสมัยโบราณ เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ซางจนถึงราชวงศ์โจว

2. ยุคสมัยจักรวรรดิ เริ่มตั้งแต่ สมัยราชวงศ์ฉินจนถึงปลาย ราชวงศ์ชิง

3. ยุคสมัยใหม่ เริ่มจากปลายราชวงศ์ชิงจนถึงการปฏิวัติเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม

4. ยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในปัจจุบัน ในบทความนี้เรามาดูวิวัฒนาการของการครอบครองทองคำในจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก่อนที่จะมาส่องดูรายละเอียดของตลาดทองคำในจีน ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

จารึกกระดองเต่าสมัยราชวงศ์ซาง
(ภาพจาก www.wiraja.com/?p=719)

ยุคสมัยโบราณ

จริงๆ แล้ว ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์ที่อยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ สือจี้ เซี่ยเปิ่นจี้ โดยซือหม่าเซียน คือราชวงศ์เซี่ย แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ตะวันตกนั้นถือว่าข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์นี้มีน้อยมาก และสรุปไม่ได้แน่นอนว่ามีราชวงศ์นี้จริงหรือไม่ จึงนับราชวงศ์ซางหรือซัง (สถาปนาเมื่อกว่า 3,000 ปีล่วงมาแล้ว) เป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์ของจีน มีการค้นพบตัวอักษรจีนเกี่ยวกับคำทำนายโชคชะตาเป็นครั้งแรกในยุคนี้
บนกระดองเต่า และกระดูกวัว และเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการบูชาบรรพบุรุษและนับถือเทพเจ้าในธรรมชาติ มีการค้นพบเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษของโบราณวัตถุในยุคราชวงศ์นี้หลายพันชิ้น แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการถลุงเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่มีการพัฒนาถึงระดับสูง มีการแกะสลักงาช้าง หินอ่อน และหยก แต่กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางเป็นผู้เหี้ยมโหดและขูดรีดเงินทองจากราษฎรอย่างมาก จนเกิดการรวมตัวของชนเผ่าต่างๆนำโดยชนเผ่าโจวจากที่ราบสูง เป็นผู้นำกำลังพลโจมตีกองทัพหลวงจนราชวงศ์ซางล่มสลาย แล้วมีการสถาปนาราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินต่อเมื่อประมาณกว่า 3,100 ปีที่แล้ว

  

เครื่องทองสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซาง

ราชวงศ์โจวนี้นับว่าเป็นราชวงศ์ที่ปกครองจีนได้ยาวนานที่สุดคือกว่า 800 ปี และอาศัยแนวความคิดด้านการปกครองโดยใช้ความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นโอรสแห่งสวรรค์ และได้รับมอบอำนาจมาให้ปกครองมนุษย์ ที่เรียกว่า อาณัติแห่งสวรรค์ ประเทศจีนในยุคนี้ มีการทำสงครามระหว่างรัฐหรือแคว้นต่างๆ เป็นเวลานานหลายร้อยปีจนเป็นที่เรียกกันว่า ชุนชิวจ้านกั๊ว จนมีการนำเรื่องราวไปแต่งเป็นนิยายกำลังภายในเช่น นาจา เทพประยุทธ์พิชิตฟ้า เป็นต้น และหนังสือพงศาวดารจีนที่ชื่อว่า ห้องสิน มีการกำเนิดบุคคลสำคัญ และลัทธิมากมายเช่น ขงจื๊อ (ลัทธิขงจื๊อที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของจีนมากที่สุด) เล่าจื๊อ (ลัทธิเต๋าที่มีแนวคิดในเรื่องหยินและหยาง) เมิ่งจื๊อ จวงจื๊อ และซุนวู เป็นต้น และปลายราชวงศ์โจวก็เกิดลัทธินิติธรรม (หรือนิตินิยม) หรือฟาเฉีย ที่ได้รวมสิ่งละอันพันละน้อยจากปรัชญาต่างๆ จนเป็นต้นกำเนิดของกฎหมายจีนในเวลาต่อมา

ธนบัตร หรือ เงินกระดาษ (paper money) ของจีน
(ภาพจาก knownhistory.blogspot.com/p/blog-page_2113.html)

เนื่องจากสงครามชุนชิวจ้านกั๊วกินเวลานานกว่า 500 ปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติ และการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่นการเกิดระบอบศักดินา และการเจริญรุ่งเรืองทางอุดมการณ์ความคิดและวัฒนธรรม เพราะแต่ละรัฐหรือแคว้นไม่ขึ้นแก่กัน และต่างก็พัฒนากันอย่างอิสระ และเป็นยุคที่ทองคำเริ่มกระจายลงไปสู่ อารยธรรมของชาวจีนมากขึ้น เพื่อใช้ประดับตบแต่งผิวให้สวยงาม เทคนิคการขุดแร่ร่อนทอง และทำเหมือง หลังจากยุคโบราณนี้ก็มีการถ่ายทอดและพัฒนาต่อไป จวบจนประมาณ พ.ศ. 323 ฉินหวางเจิ้งจากรัฐฉิน ได้รวมประเทศจีนเป็นจักรวรรดิและสถาปนาเป็นจักรพรรดิ ฉินสื่อหวงตี่ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ที่คนไทยรู้จักดี เป็นการขึ้นต้นยุคสมัยจักรวรรดิของราชวงศ์ฉิน (จิ๋น) ในตอนต่อไปเราจะกล่าวถึงยุคสมัยจักรวรรดิที่เป็นช่วงเวลาของการสร้างชาติที่แท้จริง และเริ่มมีการบันทึกเกี่ยวกับทองคำมากขึ้น มาสู่ยุคสมัยใหม่ของจีนที่ผ่านสงครามกลางเมือง จนถึงการล่มสลายของราชวงศ์สุดท้ายของจีน ไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นยุคของความแตกแยกในแนวความคิดอย่างรุนแรงอีกครั้ง ก่อนจะมาถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในปัจจุบันนี้

หอยเบี้ยใช้แทนเงินตรา พบที่เมือง Shang Zhou อายุราว 1,400-900 B.C.

เอกสารอ้างอิง

วีระชัย โชคมุกดา. (2558). ประวัติศาสตร์จีน มหาอำนาจผู้กุมชะตาโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซี สำนักพิมพ์.

Carolie Boeykens. Musuem of the National Bank of Belgium. (2007, September 5). Paper money, a Chinese invention? Retrieved March 20,2018, from www.nbbmuseum.be/en/2007/09/chinese-invention.htm

Laura He and Maggie Zhang. (2017, January 25). China retains crown as world’s top gold consumer, amid softening yuan and financial market volatility. South China Morning Post . Retrieved March 19, 2018, from
www.scmp.com/business/markets/article/2065396/china-retains-crown-worlds-top-gold-consumer-amid-softening-yuan

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 54 เดือน มกราคม - เมษายน พ.ศ. 2561