ยุคสมัยใหม่ของประเทศจีน เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบจักรพรรดิฮ่องเต้ มาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือสาธารณรัฐจีน โดยเริ่มจากช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนมาถึงช่วงสุดท้ายของเจียง ไคเชก ซึ่งต้องระหกระเหินไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2492 หลังจากนั้นจีนก็อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน
ว่ากันว่า เจียง ไคเชก รู้ตัวล่วงหน้าและได้เตรียมการโยกย้ายทรัพย์สิน ทั้งส่วนตัวและของประเทศไปยังไต้หวันก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2491 รวมถึงทองคำราว 113.6 ถึง 115.2 ตัน ที่ขนย้าย จากนครเซี่ยงไฮ้ไปเก็บไว้ยังไต้หวัน โดยมีอเมริกาเป็นพันธมิตรสนับสนุนอยู่เบื้องหลังทั้งการทหารและการเมือง
หากจะกล่าวถึงช่วงปลายของราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน มีพระนางซูสีไทเฮา (ยุคสมัยของพระนางซูสีไทเฮาอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ประมาณช่วงกลางรัชกาลที่ 3 ถึง ปลายรัชกาลที่ 5) ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทางการปกครองเวลานั้น เป็นช่วงที่เกิดการต่อต้านเป็นขบวนการปฏิวัติและเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเข้มข้น จนกระทั่งฝ่ายต่อต้านเองก็ยังเกิดการแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายปฏิรูปของ คัง โหย่วเหวย์ ที่สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญ โดยยังคงให้มีตำแหน่งฮ่องเต้ (แต่ท้ายสุดตนเองต้องหลบหนีออกนอกประเทศภายหลังพระนางซูสีไทเฮาทำรัฐประหารกวาดล้างขุนนางในราชสำนัก) และฝ่ายปฏิวัติ ของดร.ซุน ยัตเซ็น ที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิงให้หมดสิ้น ทำให้พระนางซูสีไทเฮาจำเป็นต้องเลือกใช้แนวทางของฝ่ายปฏิรูปเพื่อลดความร้อนแรงในการต่อต้านของประชาชนคือ ให้มีร่างรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งรัชทายาทใหม่คือจักรพรรดิ ผู่อี๋ ในขณะที่มีพระชนมายุยังไม่ถึง ๓ ขวบ ซึ่งก็ปรากฎตามประวัติศาสตร์ว่าเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน
ภายหลังที่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายปฏิรูปของคัง โหย่วเหวย์ ก็เริ่มแปรผันตัวเองไปสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติของซุน ยัตเซ็น เพราะกลุ่มผู้บริหารประเทศก็ยังมาจากเชื้อพระวงศ์ชิงเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจไว้ ทำให้ตระหนักว่าหากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีเพียงหนทางเดียวที่เหลือคือ ต้องใช้กำลังล้มล้างราชวงศ์เท่านั้น ประจวบกับที่พระนางซูสีไทเฮาสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2451 ทำให้ราชสำนักระส่ำระสายหนัก เพราะถูก ครอบงำโดยนายพลหยวน ซือไข่ จนเกิดการรวมตัวเป็นหลายกลุ่ม เพื่อก่อการจลาจลในปี พ.ศ. 2454 และ สถาปนารัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐจีนขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2455 ที่เมืองนานกิง และได้เลือก ดร.ซุน ยัตเซ็น ภายใต้พรรคก๊กมินตั๋งขึ้นเป็นผู้นำ
จนกระทั่งต่อมา จักรพรรดิผู่อี๋ ได้สละราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2455 ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองของระบอบกษัตริย์จีนที่มีมาอย่างยาวนาน และในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน สาธารณรัฐจีนก็ได้ประกาศรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกถือเป็นปีที่หนึ่งของสาธารณรัฐใหม่ หลังจากนั้นอำนาจของราชสำนัก และกลุ่มขุนศึกผู้นิยมระบอบกษัตริย์ได้ตกอยู่ในมือของหยวน ซือไข่ ผู้นำกำลังเข้าโจมตีสาธารณรัฐจีน และกดดันให้ ดร.ซุน ยัตเซ็น ลาออกในปี 2455 และหยวน ซือไข่ก็เข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศแทน และดำรงตำแหน่งเสมือนหนึ่งเป็นจักรพรรดิระหว่างปี 2455 ถึงปี 2470
ดร.ซุน ยัตเซ็น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นในปี 2460 ก็เกิดปรากฏการณ์ในรัสเซีย คือ เลนิน ซึ่งเป็นผู้นำชนชั้นกรรมกรและชาวนาทำการปฏิวัติยึดรัสเซียเป็นผลสำเร็จ ทำให้แนวคิดของเลนินได้แพร่หลายเข้ามายังคนจีนหัวรุนแรง จนมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2464 นำโดย เหมา เจ๋อตง และได้ร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อกวาดล้างญี่ปุ่นที่กำลังรุกรานจีนในขณะนั้น หลังจากที่ ดร.ซุน ยัตเซ็น เสียชีวิตเมื่อปี 2468 เจียง ไคเชก ผู้เป็นบุตรเขยของ ดร.ซุน ยัตเซ็น ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตก ให้ทำรัฐประหารต่อต้านพวกปฏิวัติและมุ่งจะทำลายพรรคคอมมิวนิสต์จีน นับเป็นการหักหลัง เหล่าชนชั้นกลาง พ่อค้า และเหล่ากรรมกรชาวนา นอกจากนี้ ยังปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์สู้รบกับญี่ปุ่นที่รุกรานจีนอยู่ฝ่ายเดียว จนทำลายกองทัพญี่ปุ่นได้ในปี 2488 และในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถทำลายล้างกองทัพก๊กมินตั๋งของ เจียง ไคเชก ได้สำเร็จ ในปี 2492 และสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเหมา เจ๋อตง เป็นประธานของรัฐบาลกลางแห่งประชาชน
ส่วนเจียง ไคเชก กับพรรคพวกชนชั้นกลาง และสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง ต้องหนีไปตั้งประเทศที่เกาะไต้หวัน นี่คือยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีน และเป็นกรณีศึกษาที่คนทั่วโลกสนใจ แต่ไม่อาจล่วงรู้ถึงความเป็นไปของจีนมากนัก เพราะจีนปิดประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2492 ถึง 2515 จนมีการขนานนามว่าเป็นยุค “หลังม่านไม้ไผ่ของจีน”
สาเหตุหนึ่งที่จีนต้องปิดประเทศเพื่อเริ่มต้นใหม่ ก็เนื่องจากเหตุการณ์สองครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้คือ ครั้งแรกเมื่อญี่ปุ่นบุกโจมตีจีนในสงครามนานกิงประมาณปี พ.ศ. 2480 และจีนได้อ้างว่าญี่ปุ่นได้ขนทองคำของจีนกว่า 6,600 ตันไปหลังจากชนะสงครามในปี 2481 และครั้งที่สองเมื่อปี 2491 ถึง 2492 ที่เจียง ไคเชก ได้ขนทองคำหนัก 100 กว่าตันรวมถึงเงินเหรียญ และเงินสกุลต่างประเทศออกจากจีน เพื่อใช้เป็นทุนสำรองกำหนดสกุลเงินสำหรับตั้งประเทศใหม่ที่เกาะไต้หวัน
เจียง ไคเชก และเหมา เจ๋อตง สองพยัคฆ์ชิงแผ่นดินจีนเมื่อครั้งยังจับมือกันต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ของจีนกับต่างประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการค้าขายนั้น เริ่มในราวศตวรรษที่ 19 สมัยยุคราชวงศ์ชิงที่อังกฤษได้นำฝิ่นเข้ามามอมเมาประชาชน จนเกิดเป็นสงครามฝิ่นขึ้นสองครั้ง ซึ่งกินเวลาเกือบสิบปีทำให้ราชวงศ์ชิงเริ่มเสื่อมลง เป็นผลให้มีชาติตะวันตกและญี่ปุ่น เข้ามาหาผลประโยชน์ มากมาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนโดยเงินจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ตามความต้องการของอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นใช้อำนาจทางทหารกดดันราชวงศ์ชิง เพื่อยุติสงครามฝิ่น ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญานานกิงใน ค.ศ. 1842 หรือ พ.ศ. 2385 (ช่วงยุครัตนโกสินทร์ของไทย สมัยที่รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์) ที่ทำให้จีนสูญเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ และยังเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตภายใต้สนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอีกมากกับชาติตะวันตก
ตั้งแต่นั้นมาเซี่ยงไฮ้ก็กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นตลาดการค้าที่เชื่อมต่อจีนกับโลกภายนอก เมื่อจีนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐจีน เซี่ยงไฮ้ ก็มีความเจริญสูงสุด ประเทศจากชาติตะวันตกก็เข้ามาหาผลประโยชน์ เห็นได้จากการเกิดขึ้นของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ที่เรียกว่า The Shanghai Stock and Commodities Exchange ที่ก่อตั้งราว ค.ศ. 1920 หรือ พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นช่วง The Great Depression ที่ภาวะเศรษฐกิจ โลกตกต่ำครั้งใหญ่ และหลังจากที่เจียง ไคเชก ได้สืบทอดอำนาจต่อจาก ดร.ซุน ยัตเซ็น ประมาณ ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ. 2473 พรรคก๊กมินตั๋งก็ขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ออกจากเวทีการเมือง เพราะเจียง ไคเชก เดิมทีนั้น ก็ไม่ชอบแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว
หลังจากนั้น ก็มีการก่อตั้ง Shanghai Gold Business Exchange จนกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าทองคำที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออก จนถึงปี ค.ศ. 1949 หรือ พ.ศ. 2492 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผลักดันให้เจียง ไคเชก ออกจากประเทศทางทะเลตะวันออก ซึ่งได้ขนย้ายพลเมืองรวมทั้งทรัพย์สินทองคำไปสู่เกาะไต้หวัน จากนั้น จึงตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา
การอพยพของพลเมืองและทหารจีนคณะชาติไปยังเกาะไต้หวันเมื่อ ปี พ.ศ. 2492
ส่วนเหมา เจ๋อตง ก็อ่านประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ People’s Republic of China พร้อมกับผู้นำร่วมอุดมการณ์เดียวกันอีกหลายท่าน เช่น หลิน เปียว, โจว เอินไหล, เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้น โดยมีโจว เอินไหล เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และทำหน้าที่ยาวนาน จนวาระสุดท้ายของชีวิตกว่า 27 ปี โจว เอินไหล ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการทูตที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เพราะทำให้สหรัฐอเมริกาที่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของจีน ยอมเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จนมีการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี นิกสัน ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2515
หลังจากนั้น จีนก็แทบไม่มีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศเลย เรียกได้ว่าตัดขาดการติดต่อโดยสิ้นเชิง นับเป็นเวลากว่า30 ปี จนกระทั่งปี ค.ศ.1978 หรือ พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ออกมาประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศจีน นับเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพื่อนำจีนเดินหน้าสู่ยุคของการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
เติ้ง เสี่ยวผิง
จีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง เปรียบได้กับการปฏิวัติครั้งที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการปฏิรูปเชิงเศรษฐกิจที่ทำให้จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังก่อกำเนิดแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบ คือ ความเป็นจีนเดียวโดยสมบูรณ์เพียง 1 ประเทศ ส่วน 2 ระบบ คือ ความปรองดองระหว่างการปกครองระบอบสังคมนิยมของแผ่นดินใหญ่ และทุนนิยมของฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
ในปี พ.ศ. 2526 จีนก็ประกาศกฎหมายเพื่อการควบคุมและบริหารจัดการการซื้อขาย รวมถึงการนำเข้าและส่งออกทองคำและเงิน ภายใต้ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน People’s Bank of China (PBoC) แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ภายใต้นโยบายเปิดการค้าเสรีของตลาดทองคำ กฎหมายควบคุม ทองคำและเงินนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไป และได้มีการก่อตั้งสมาคมทองคำแห่งประเทศจีนขึ้นที่เรียกว่า China Gold Association (CGA)
จีนเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรอยู่มากมาย เนื่องจากพื้นที่ของประเทศมีมากถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีแนวชายฝั่งติดทะเลยาวกว่า 14,500 กิโลเมตร ซึ่งก็รวมถึงแหล่งทองคำที่ยังมีกระจายอยู่ทั่วไป ล่าสุดในปี 2560 มีการค้นพบเหมืองทองคำที่มณฑลชานตง ที่ประมาณการว่าจะมีทองคำอยู่ถึง 550 ตัน ซึ่งจะนับว่าเป็นเหมืองทองใหญ่ที่สุดของจีน โดย Shandong Gold Group ที่ถือเป็นผู้ผลิตทองคำอันดับสองของจีน
ในปี 2545 ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บทองคำของประเทศ และมีการจัดตั้ง Shanghai Gold Exchange (SGE) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ PBoC โดยการสนับสนุนของสภาประชาชนแห่งชาติ (State Council) และเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ นับว่าเป็นกำหนดการสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจีน ที่วางแผนให้มีตลาดค้าทองคำอย่างเสรี ถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของยุคการค้าทองคำในประเทศจีน จริงๆ แล้วตลาด SGE จะครอบคลุมถึงการซื้อขายโลหะมีค่าอื่นด้วย เช่น Silver และ Platinum เป็นต้น
หน่วยงานที่มีความสำคัญในตลาดทองคำของจีนประกอบไปด้วย 4 ธนาคารใหญ่ของจีนคือ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC), Bank of China (BoC), China Construction Bank (CCB) และ Agriculture Bank of China (ABC) รายละเอียดสำคัญหลังจากนี้จะเป็นช่วงต่อไปเรียกว่า ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของจีน ที่เราจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
เอกสารอ้างอิง
วีระชัย โชคมุกดา. (2558). ประวัติศาสตร์จีน มหาอำนาจผู้กุมชะตาโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซีสำนักพิมพ์
Shih-hui Li. (2005). The Currency Conversion in Postwar Taiwan: Gold Standard from 1949 to 1950 The Kyoto Economic Review 74(2): 191 -203
Jan Skoyles. (2013, September 24). How One Man Took China’s Gold. Retrieved December 17, 2018 from http://therealasset.co.uk/nationalist-china-gold/!prettyPhoto__
Gold University-BullionStar. Chinese Gold Market Retrieved December 18, 2018, from https://www.bullionstar.com/gold-university/chinese-gold-market
ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 56 เดือน มกราคม - มีนาคม 2562