กราฟฟิกค่าเงินต่างๆ ที่มา : www.iese.edu
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าการตั้งราคาทองคำในแต่ละวันนั้นทำอย่างไรและใช้ข้อมูลอะไรในการอ้างอิง ที่มาของการตั้งราคาทองคำนั้นอ้างอิงจาก 2 ปัจจัยหลักก็คือ Gold Spot และค่าเงินบาท
Gold Spot คือ ราคาทองคำต่างประเทศ มีหน่วยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแรงซื้อขายจากตลาดทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง อีกปัจจัยหนึ่ง คือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะราคาทองคำนั้นใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก เมื่อจะแปลงราคาทองคำต่างประเทศเป็นราคาทองคำในประเทศไทย จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาคำนวณเป็นราคาซื้อขายทองคำในประเทศไทยด้วย
ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) คือ ราคาของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง องค์ประกอบหลักของอัตราแลกเปลี่ยนจึงมี 2 ส่วนคือ เงินสกุลท้องถิ่นกับเงินสกุลต่างประเทศ สามารถแสดงราคาได้สองแบบ แบบแรกคือ ราคาเงินสกุลต่างประเทศที่แสดงเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ส่วนแบบที่สองคือ ราคาเงินสกุลท้องถิ่นที่แสดงเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ 1 ดอลลาร์เท่ากับเงินบาท 33 บาท ในทางกลับกัน เงิน 1 บาท เท่ากับเงิน 0.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยที่มีผลต่อราคาของเงินแต่ละสกุล ได้แก่ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยเรื่องความต้องการซื้อขายด้วย
ผลของเงินเฟ้อที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้น อธิบายได้ดังนี้ ณ จุดเริ่มต้น ราคาเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ควรมีค่าเท่ากัน คือ เงินบาท 1 บาท แลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ 1 เหรียญ มีอัตราแลกเปลี่ยนเป็น 1:1 แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้เงินบาทด้อยค่าลงจึงต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนต่างของเงินเฟ้อระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินของสองประเทศไม่เท่ากัน เงินเฟ้อยิ่งสูงและเฟ้อนานก็ยิ่งทำให้เงินด้อยค่าลงมาก เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันก็จะยิ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสูง
ตลอดปี พ.ศ. 2560 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน 2561 และอ่อนค่าลงในช่วง 3-4 เดือน ต่อจากนั้น แต่ก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเหลือประมาณ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2562 เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนนี้
สำหรับประเทศไทยนั้น มีผลการศึกษาวิจัยถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พอสรุปได้ ดังนี้
คุณชิดชนก จันทนนตรี และคณะ (2560) พบว่า ปัจจัยที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ
การศึกษาของ คุณนิภาพร โชติพฤกษวัน (2554) อัตราเงินเฟ้อ (INF) เป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในทิศทางเดียวกัน แต่อัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร (IBR) ไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
คุณนันท์ลินี ธนาสิริวงศ์ (2558) พบว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม
คุณสมยศ อวเกียรติ และ คุณสิทธิพร ประวัติรุ่งเรือง (2559) พบว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทิศทางเดียวกัน และอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคารไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับปัจจัยที่เหลือ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัด และมูลค่าการส่งออกสินค้า ไทย-สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกสินค้าไทย-สหภาพยุโรป มูลค่าการส่งออกสินค้าไทย-ญี่ปุ่น เป็นปัจจัยที่ไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ข้อมูลและวิธีการ
การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลจากระบบให้บริการข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/) โดยใช้ข้อมูลรายเดือน จำนวน 180 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2548–ธันวาคม ปี พ.ศ. 2562
ตัวแปรตาม (Outcome) คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตัวแปรต้น (Determinants) ได้แก่ (1) อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank Rate) มีหน่วยเป็นอัตราร้อยละต่อปี (2) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) มีหน่วยเป็นร้อยละ ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลรายปี จึงใช้ค่าเท่ากันสำหรับปีเดียวกัน (3) มูลค่าการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไทย-สหรัฐฯ (Exports to USA.) หน่วยเป็นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ (4) ดัชนีหลักทรัพย์ (SET index)
ผลการวิเคราะห์
จากกราฟในรูปที่ 1 ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2562 จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงปี พ.ศ. 2554 จนถึงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2556 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ช่วงเวลาต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2557–2559 พบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พบว่าในปี พ.ศ. 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562
เมื่อพิจารณาแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่า อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (รูปที่ 2) ดัชนีหลักทรัพย์และมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกันตลอดระยะเวลา 15 ปีที่นำข้อมูลมาศึกษา (รูปที่ 3)
จากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์ชันในตารางด้านล่าง จะเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ระดับปานกลางในทิศทางตรงกันข้ามกับ SET index และมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ( r เท่ากับ -0.4659 และ -0.4292 ตามลำดับ) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ระดับต่ำในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ( r เท่ากับ 0.1676 และ 0.2821 ตามลำดับ)
การวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ
จากการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงเส้นพหุคูณเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตามรูปที่ 4 ได้สมการแสดงความสัมพันธ์ดังนี้
THB_per_USD = 37.94 – 0.0025*SET_index – 0.3209*Inflation_rate – 0.0011*Export_USA + 0.5583*Interbank_rate
โดยดัชนีหลักทรัพย์ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ทั้งนี้พบว่า สมการที่ประกอบด้วย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร และมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ สามารถอธิบายอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เพียง 26% (R-square = 0.2558)
สรุปและอภิปรายผล
การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งพบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และอัตราเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบของคุณนันท์ลินี ธนาสิริวงศ์ (2558)
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารสัมพันธ์ในทิศทางบวกกับอัตราแลกเปลี่ยนฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยข้อค้นพบนี้แตกต่างจากผลการศึกษาของคุณนิภาพร โชติพฤกษวัน (2554)ที่พบว่าอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคารไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ นั้นไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของคุณสมยศ อวเกียรติ และ คุณสิทธิพร ประวัติรุ่งเรือง (2559)
ภาพประกอบการแลกเปลี่ยน ที่มา : www.myaccount-cloud.com
ทั้งนี้เพื่อให้ผลการศึกษามีความน่าเชื่อถือและสรุปผลความสัมพันธ์ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จำเป็นต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระเบียบวิธีและแบบจำลองทางสถิติที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งยังควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และงานวิจัยชุดนี้เราใช้เพียงตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีผลต่อราคาทองคำ เหตุที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อราคาทองคำในประเทศไทย เนื่องจาก การคำนวณราคาทองคำในประเทศไทยจะต้องทำการแปลงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักสำหรับใช้ในการซื้อขายทองคำโลกมาเป็นค่าเงินบาทเสียก่อน ซึ่งปัจจัยที่มี สามารถนำมาใช้วัดผลได้ระดับนึง แต่ยังไม่สามารถนำไปวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของราคาทองคำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ถึงแม้ว่าเราจะวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้ แต่ยังไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ราคาทองคำต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Gold Spot ได้
ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 61 เดือน เมษายน - มิถุนายน พ.ศ. 2563
เอกสารอ้างอิง
ชิดชนก จันทนนตรี, พิชญา กาวิหก และ สันติชยั ศรีคำ. (2560). ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทย. วารสารเศรษฐศาสตร์รามคําแหง. 3(2), 60-87.
นันท์ลินี ธนาสิริวงศ์. (2558). ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผล
ต่อดัชนีราคาหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. การค้นคว้าอิสระหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
นิภาพร โชติพฤกษวัน. 2554. การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินบาทต่อยูโร
และค่าเงินบาทต่อหยวน. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสาขา
วิชาการเงิน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ฤทธิเดช แววนุกูล. (2551). ความสัมพันธ์เชิงเหตุภาพระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนและราคาหลักทรัพย์ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สมยศ อวเกียรติ และ สิทธิพร ประวัติรุ่งเรือง. (2559). อิทธิพลของปัจจัยที่สำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เงินบาทต่อยูโร และ เงินบาทต่อเยน. วารสารวิชาการบริหารธุรกิจ. 5(2), 17-27.
สุดา ปีตะวัน และ เพาพันธ์ กัลยาณมิตร. (2552). ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ. การค้นคว้าแบบอิสระคณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.