*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

Night@museum อีกมุมมองสุดงดงามของโบราณสถานไทย

ณ วันที่ 29/05/2566

หลังจากที่ทุกท่านอ่านบทความเรื่องเทคโนโลยีกันไปเยอะแล้ว ในวันนี้จะพาทุกคนไปเยี่ยมชมหนึ่งใน พิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night at the Museum) ที่น่าสนใจและน่าไปเยี่ยมชมสักครั้ง นั่นก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

แต่ทว่าที่นี่ไม่ได้จัดให้เข้าชมในตอนกลางคืนบ่อยนัก โดยครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และเราได้เข้าชมในระหว่างวันที่ 17–19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยจะเปิดให้เข้าชมความงดงามของโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และส่วนจัดแสดงนิทรรศการในพระที่นั่งต่างๆ ระหว่างเวลา 16.00-20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เราเดินทางมาถึงตั้งแต่ช่วงเย็น เมื่อมาถึงอันดับแรกที่ทำก็คือการเข้ากราบนมัสการพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และชมจิตรกรรมฝาผนังแห่งยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จากนั้นได้เดินเที่ยวชมพื้นที่โดยรอบ จนกระทั่งช่วงค่ำเมื่อถึงเวลาที่ทางผู้จัดงานได้เปิดไฟ โดยใช้แสงสีต่างๆ ส่องไปกระทบกับกำแพงโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ทำให้มีความงดงามแปลกตาออกไป

ขณะที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการในพระที่นั่งต่างๆ ก็ได้เปิดไฟสว่างไสว เพิ่มความงดงามของโบราณวัตถุที่จัดแสดงในห้องต่างๆ เป็นอย่างมาก ต้องยอมรับว่ายังไม่เคยเดินเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครมาก่อน มาครั้งแรกก็ได้มาสัมผัสประสบการณ์ท่องพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนเลย ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษสุดจริงๆ และสิ่งของที่จัดแสดงภายในถือว่างดงาม ตระการตา และสุดล้ำค่า

ในครั้งนี้เราใช้เวลาค่อนข้างมากในการเที่ยวชมอาคารหมู่พระวิมาน พระราชมณเฑียรที่ประทับในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งได้จัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญๆ นอกจากนั้น ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความเก่าแก่และงดงาม ที่หาชมได้ยากยิ่ง

แน่นอนว่าวารสารทองคำ ก็ต้องดูสิ่งของที่ทำมาจากทองคำซึ่งแม้ว่าจะมีไม่มาก แต่ที่นำมาจัดแสดงก็ถือว่างดงามและทรงคุณค่า อย่างเช่น พระพุทธรูปปางสมาธิหุ้มทองคำ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 (อายุ 200 ปีมาแล้ว) ซึ่งเป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร และพระพุทธรูปปางสมาธิกะไหล่ทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 (อายุ 150 ปี) ที่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่ได้นำมาจัดวางเรียงคู่กันกลางห้องโถง ทำให้มีความโดดเด่น และงดงามมาก

       

ใกล้กันมีเครื่องใช้ที่ทำมาจากทองคำ ที่เห็นสะดุดตาและนำมาให้ได้ชมกันก็คือ หีบหมากลงยาประดับเพชร พร้อมลูกหีบ 3 ใบ หีบเครื่องพระยศ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้าจอมมารดามรกฎ ซึ่งรับสนองพระเดชพระคุณครบ 30 ปี ตั้งแต่ ร.ศ. 86-116 ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2440

นอกจากนั้น ยังมีกำไลหัวบัวทองคำ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 (150 ปีมาแล้ว) และขันน้ำพานรองทองคำสลักลาย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 (150 ปีมาแล้ว) 

   

   

นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดง เชื่อว่าหากจะดูกันอย่างละเอียดศึกษาข้อมูลต่างๆ คงจะต้องใช้เวลาทั้งวัน

จากนั้นไปยลความอลังการของงานประณีตศิลป์ของราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระอิสริยยศในงานพระเมรุ ณ โรงราชรถ ซึ่งก็ใช้เวลาชมความงดงามอย่างใกล้ชิดอยู่นานพอสมควร 

น่าเสียดายที่เวลามีแค่นี้ เพราะทางผู้จัดงานได้ปิดให้บริการในเวลา 20.00 น. ยังไม่ได้ชมสถานที่ที่เป็นไฮไลท์อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเก๋งจีนนุกิจราชบริหาร สถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวในวังหน้า ซึ่งกลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง หลังจากที่ปิดมานาน 20 ปี

ต้องบอกว่าเป็นอีกทริปที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง หากว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night at the Museum) อีกครั้ง แต่หากทนไม่ไหวอยากดู เชื่อว่าการเดินเที่ยวชมช่วงกลางวันก็น่าสนใจไม่แพ้กัน  หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โทรสอบถามได้ที่ 02-2241402 และ 02-2241333

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 67 เดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2564