*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

หยวนดิจิทัล เมื่อพญามังกรสยายปีก

ณ วันที่ 31/05/2566


ภาพถ่ายโดย kstudio : https://www.freepik.com/author/kstudio

ตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มสื่อสารกันได้ก็มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของจนพัฒนาไปถึงเรื่องของการค้าขายข้ามประเทศ สื่อกลางที่ยอมรับกันในรูปของเงินตราแบบเหรียญและเงินกระดาษก็เกิดขึ้น

ในยุคแรกนั้นเราใช้ระบบที่เรียกว่า Barter System คือการใช้สิ่งของเป็นการแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อสามพันกว่าปีที่ผ่านมา ก็ใช้เปลือกหอยเบี้ยที่พบแถวมหาสมุทรอินเดียเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน ในยุคสำริด (Bronze Age) ซึ่งเป็นช่วงกำเนิดแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีน (เริ่มมีระบบราชวงศ์และนับเป็นยุคแรกของประวัติศาสตร์จีน) พบว่ามีการนำเอาโลหะสำริดมาแกะสลักเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของในจีน นับว่าเป็นจุดเริ่มของการนำโลหะมาใช้เป็นสื่อกลาง

หลังจากนั้น โลกเราก็เข้าสู่ยุคของระบบเงินตราที่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ คือเมื่อราวสองพันหกร้อยปีที่ผ่านมาในอาณาจักรลิเดีย (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศตุรกี) มีการใช้เหรียญกษาปณ์เป็นก้อนเงินผสมทอง มีตราประทับหัวสิงโตประจำพระองค์ของกษัตริย์ มูลค่าน่าจะแตกต่างกันไปตามขนาดของเหรียญ หลังจากนั้นเงินตราในรูปแบบนี้ก็เริ่มขยายตัวไปยังอาณาจักรอื่นๆ รวมถึง กรีก โรมัน และยุโรป ทำให้การค้าขายเติบโตและเจริญขึ้น

จนกระทั่งเมื่อราวพันกว่าปีที่แล้ว มาร์โคโปโลได้นำตั๋วแลกเงินของจีนกลับยุโรปหลังจากที่ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งในประเทศจีน นับว่าเป็นผู้จุดประกายแนวคิดเรื่องเงินกระดาษในประเทศตะวันตก ซึ่งใช้เวลาอีกกว่าสามร้อยปี ถึงจะเริ่มมีการใช้เงินกระดาษ (Bank Notes) กันเป็นครั้งแรกในประเทศสวีเดน

มาในปัจจุบันเราเริ่มเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้สกุลเงินให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลชัดเจนมากขึ้น เมื่อจีนขยับทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการพูดถึงกันมากในเรื่องของสกุลเงินเข้ารหัสที่ เรียกว่า Cryptocurrency หลังการเปิดตัวของ Bitcoin ในปี 2552 ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนชนิดใหม่ ต่อมาในปี 2557 ก็เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้นเพราะมูลค่าของ Bitcoin ได้เติบโตไปกว่า 10 เท่าในขณะนั้น (และเป็นหลายๆ สิบเท่าในปัจจุบัน)

ภายหลังการเปลี่ยนดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการกำหนดสกุลเงินหลักของโลกในตะกร้าเงินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ที่เรียกว่า Special Drawing Rights (SDRs) ซึ่งก่อนหน้านี้มีดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน จนกระทั่งในปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง จีนก็สามารถยกระดับเงินหยวน Renminbi (RMB) เข้าสู่ระดับสากล (Renminbi Internationalization) ได้ เมื่อ IMFประกาศให้เงินหยวนได้เข้าเป็น 1 ใน 5 สกุลเงินหลักของโลกในตะกร้า SDRs นับเป็นก้าวสำคัญของจีน ในเส้นทางเข้าสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก


ภาพถ่ายโดย Pixabay: https://www.pexels.com/th-th/photo/315788/

ความนิยมในระบบอีคอมเมิร์ซปัจจุบันทำให้การซื้อขายสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์มด้านกระเป๋าเงินออนไลน์ E-Wallet ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ทางเอกชนพัฒนาขึ้นเพื่อสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค สถิติเมื่อปีที่แล้วพบว่ามีผู้ใช้งาน E-Wallet ทั่วโลกประมาณ 900 ล้านคน ปรากฎว่าอยู่ในประเทศจีนถึงกว่า 700 ล้านคน ทำให้เอกชนจีนแข่งขันกันพัฒนาระบบ E-Wallet เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติ

ล่าสุดถึงขั้นสามารถออมเงิน ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าธนาคารกลุ่มเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีนมีอยู่สองรายคือ Ant Financial Group ที่เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา ให้บริการ Alipay และบริษัท Tencent ซึ่งเป็น holding company ที่ทำ WeChatPay สองบริษัทนี้ได้ครอบคลุมการให้บริการไปกว่า 2 ใน 3 ของส่วนแบ่งการตลาดในจีน มีตัวเลขที่ยังไม่เป็นทางการว่า Alipay (Alibaba) ถือครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 55% และ Tenpay (Tencent + WeChat) มีส่วนแบ่งการตลาดราว 40%

นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจีนต้องรีบเร่งพัฒนาการใช้เงินหยวนดิจิทัล และระบบเงินตราขึ้นใหม่ โดยการใช้บัตรประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการควบคุมและบริหารจัดการประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในรูปแบบของสังคมไร้เงินสด แน่นอนว่าต้องได้รับความร่วมมือเต็มที่จากบริษัทเอกชนที่ให้บริการระบบอีคอมเมิร์ซของจีน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน คือการใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัล ควบคู่ไปกับสกุลเงินหยวนแบบเดิม ปัจจุบันเงินหยวนดิจิทัลจะอ้างอิงกับค่าเงินหยวนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง และได้เริ่มทดลองใช้ในสามเมืองใหญ่คือ เซิ่นเจิ้น เฉิงตู และซูโจว แล้วหลังจากที่พัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2557

คำถามที่น่าสนใจ คือ จีนจะกระจายเงินดิจิทัลและมีการใช้งานอย่างไร การกระจายเงินดิจิทัล (distribution) จะทำแบบ two-tier system หมายถึง จะเริ่มจากธนาคารกลางของจีน PBOC (People’s Bank of China) ไปยังธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็จะรับผิดชอบส่งมอบต่อให้กับลูกค้าของธนาคาร แน่นอนว่าจะต้องมีระบบรองรับ แลกเปลี่ยนจากเงินหยวนเดิมให้มาเป็นเงินดิจิทัล ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงร่วมกับบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ JD.com ทุ่มเงินไปหลายล้านหยวนดิจิทัลในการทดลองใช้เมื่อปีที่แล้วรวมถึงการนำไปใช้ในระบบสลากล็อตเตอรี่โดยผ่านแอพพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับการรับเงินดิจิทัล

ส่วนการใช้งานนั้นคาดเดาได้ยาก เพราะปัจจุบันวิธีการจ่ายเงินที่นิยมมากที่สุดในจีน คือการใช้ QR (Quick Response) codes จึงต้องตามข่าวจากรัฐบาลจีนต่อไปว่า จะกำหนดการใช้จ่ายอย่างไร เมื่อมีการใช้เงินดิจิทัลกันทั่วประเทศแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารพาณิชย์ในจีนอาจจะควบรวมการใช้งานเงินหยวนดิจิทัล เข้าไปในแอพพลิเคชั่นของธนาคารของตัวเองส่วน Alipay และ WeChatPay ก็อาจจะเสริมในส่วนของระบบหยวนดิจิทัลเข้าไปในการใช้งาน และบริษัทที่ทำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของจีนก็อาจสร้างกระเป๋าเงิน สำหรับเงินดิจิทัล (Digital Yuan Wallets) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีต่อรัฐบาลจีนที่สามารถประหยัดเงินในส่วนของการทำระบบ เพื่อรองรับการใช้งานเงินสกุลใหม่ของจีน

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหยวนดิจิทัลกับบิตคอยน์ (ที่เป็น Decentralized Cryptocurrency ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยส่วนกลาง) จะพบความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน ถึงแม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบสกุลเงินหยวนดิจิทัลนี้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีอะไร

แต่ที่พอจะระบุได้คือ บิตคอยน์มีจุดเด่นเรื่องการไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งาน (Anonymity) แต่หยวนดิจิทัลนั้น จะมีในเรื่อง ของการไม่เปิดเผยตัวตนที่ควบคุมได้ (Controllable Anonymity) ซึ่งหมายถึง PBOC จะเข้ามาเป็น sole third party ในการตรวจสอบธุรกรรมน่าสงสัยที่อาจเกิดขึ้นใน Digital Yuan Wallets โดยที่ธุรกรรมเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงเข้ากับบัญชีธนาคารของผู้ใช้ แต่จะใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้งานซึ่งหมายความว่าตัวแทนที่ให้บริการหยวนดิจิทัลต้องส่งข้อมูลของลูกค้าให้กับ PBOC เป็นระยะๆ ในรูปแบบการส่งข้อมูลแบบอะซิงโครนัส (Asynchronous Transmission) เพื่อตรวจสอบเรื่องของการฟอกเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน


ภาพถ่ายโดย wirestock : https://www.freepik.com/author/wirestock

ส่วนเรื่องของการใช้เงินหยวนดิจิทัลข้ามเขตแดนระหว่างประเทศเพื่อการค้านั้นจีนก็ไม่ได้ละเลย เห็นได้จากข้อตกลงร่วมมือกัน ระหว่างประเทศคู่ค้าในโครงการศึกษาพัฒนา ตามข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 จากธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 11/2564 เรื่องกลุ่มธนาคารกลางเข้าร่วมโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) เรียกว่าโครงการ m-CBDC Bridge (Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project) เพื่อร่วมกันศึกษาศักยภาพของเทคโนโลยี การประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) ที่เราคงคุ้นกันในชื่อของ Blockchain (เป็นรูปแบบหนึ่งของ DLT) โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อจะเอามาใช้จริงในการโอนเงินระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และตลาดทุนในอนาคต

ทางฝ่ายเอกชนก็มีความพยายามพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองเช่นกัน เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านมูลค่าของสินค้าแทนที่การชำระเงินแบบปัจจุบัน ซึ่งมีต้นทุนและไม่สะดวกสบายเท่าไหร่เช่น บริษัท Facebook. Inc. ที่เริ่มพัฒนาเงินดิจิทัลแบบ stablecoins เรียกว่า Libra แต่หลังจากเจอแรงต้านจากรัฐบาลสหรัฐฯ จึงจำต้องปรับเปลี่ยนและใช้ชื่อใหม่เป็น Diem ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการออกใช้ Diem ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2564 ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐของแต่ละประเทศ

การขยับตัวของจีนในยุคปัจจุบันเรื่องการใช้เงินดิจิทัลอย่างรวดเร็วเป็นประเทศแรก ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณให้กับโลกทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเงินตราและทิศทางการค้าขายในอนาคต ฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยมีการศึกษาทดลอง สกุลเงินบาทดิจิทัลที่เรียกว่า Inthanon มาหลายปีแล้วแต่ไม่ค่อยมีข่าวออกมาในสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ถึงเวลาแล้วครับที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในไทยเราควรเตรียมตัวรับกระแสเงินดิจิทัลเหล่านี้

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 64 เดือน มกราคม-มีนาคม 2564

เอกสารอ้างอิง

Arjun Kharpal. (2021, March 4). “China has given away millions in its digital yuan trials. This is how it works.” Retrieved from https://www.cnbc.com/2021/03/05/chinas-digital-yuan-what-is-it-and-how-does-it-work.html

Boom Praniti (Editor in Chief at Billion Mindset). (2021, March 7). “รัฐบาลกับการเร่งเปิดตัวหยวนดิจิทัลอาจ สะเทือนตลาดบิตคอยน์โลก”. Retrieved from https://www.billionway.co/digital-yuan-incoming/

Ittichai. (2020, October 20). “AliPay แพลตฟอร์ม eWallet ที่ใหญ่สุดของจีนกับบทบาทใหม่ที่ช่วยคนจีนเก็บออมเงิน” Retrieved from https://www.marketingoops.com/exclusive/insider-exclusive/alipay-ewallet/

Level Up การตลาดจีน. (2018, July 20). “E-Wallet ในจีนนำหน้าสหรัฐกับรายงานของ Forbes.” Retrieved from https://www.levelupthailand.com/post/2018/07/20/e-wallet-e0-b9-83-e0-b8-99-e0-b8-88-e0-b8-b5-e0-b8-99-e0-b8-99-e0-b8-b3-e0-b8-ab-e0-b8-9

เณศราธร ลลิตวณิชกุล. (2014). “บทบาทของเงินหยวน ในระบบการเงินโลก และการเตรียมการของ ธปท.” Retrieved
from https://www.bot.or.th/Thai/phrasiam/Documents/Phrasiam_5_2557/No.09.pdf

BOT พระสยาม Magazine (Issue 1, 2564). “หยวนดิจิทัล Libra และอินทนนท์ กับพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลใน ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” หน้า 46–49.