*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

มารู้จักเหมืองขุดทองคำที่สำคัญของโลก

ณ วันที่ 02/06/2566


ภาพถ่ายโดย Vlad Che?an: https://www.pexels.com/th-th/photo/2892618/

ธรรมชาติของทองคำในทางวิทยาศาสตร์คือแร่ในธรรมชาติ ที่มักจะพบตามสายควอตซ์ปนกับแร่หนักอื่นๆ มีความทนทานต่อการสึกกร่อน ลักษณะโดยทั่วไปมักพบเป็นเกล็ด เม็ดกลม หรือเป็นก้อนใหญ่ มีความเหนียวที่สามารถตีแผ่เป็นแผ่นบางๆ ได้

ลักษณะเด่นของทองคำคือมีความหนักเพราะค่าความถ่วงจำเพาะสูง มีสีเหลืองวาว และกรดธรรมดาไม่สามารถละลายทองได้ โดยจะละลายในกรดกัดทอง aqua regia (จากการผสมกันของ กรดไนตริค และกรดไฮโดรคลอริค) เท่านั้น

แหล่งแร่ทองคำของประเทศไทยมีอยู่ในหลายจังหวัด เช่นพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น และยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยถูกบริษัทคิงส์เกตฟ้องร้อง เป็นคดีของเหมืองทองอัคราที่ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ให้ปิดเหมือง โดยเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลเป็นจำนวนกว่าสามหมื่นล้านบาท

ส่วนในต่างประเทศก็มีแหล่งทองคำที่สำคัญๆ อยู่ใน แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา บราซิล ชิลี เปรู จีน อินเดีย เป็นต้น

หากมาดูในมุมของทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมที่เป็นขุมสมบัติของแต่ละประเทศ เมื่อปี 2564 Investopedia ได้มีการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีความมั่งคั่ง (ตามรายรับของรัฐบาล) ของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้

1. ประเทศจีน ที่กว่า 90% เป็นถ่านหิน และ rare earth metals นอกจากนี้ยังมี ทองคำ กราไฟท์ ตะกั่ว ดีบุก ทังสเตน และอีกหลายอย่าง

2. ประเทศซาอุดิอาราเบีย ที่เป็นประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันมูลค่ามหาศาล

3.ประเทศแคนาดา ที่มีทองคำ ถ่านหิน ยูเรเนียมก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

4.ประเทศอินเดีย มีถ่านหิน เพชร ก๊าซธรรมชาติ ไทเทเนียม แมงกานีส เป็นต้น

5.ประเทศรัสเซีย ที่มีการทำเหมืองทางอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีทั้ง อลูมินัม ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม พาลาเดียม ซิลิคอน และ rare earth minerals ต่างๆ

6. ประเทศบราซิล ที่มีทองคำ เหล็ก น้ำมัน ยูเรเนียม

7.ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีถ่านหิน ทองแดง ทองคำ และก๊าซธรรมชาติ

8. ประเทศเวเนซูเอล่า มีถ่านหิน ทองคำ เหล็ก และน้ำมัน

9.ประเทศคองโก มีโคบอลท์ ทองแดง เพชร ทองคำ ลิเทียม

10.ประเทศออสเตรเลีย มีถ่านหิน ทองคำ ยูเรเนียม ทองแดง เหล็ก นิเกิ้ล และ rare earth metals เป็นต้น


ภาพถ่ายโดย Pixabay : https://www.pexels.com/th-th/photo/315788/

ในส่วนของทองคำเชื่อกันว่าปริมาณทองคำที่ขุดขึ้นมาและมีการใช้ประโยชน์กันแล้วประมาณกว่า 190,000 ตันและโดยเฉลี่ย ในปัจจุบันมีการผลิตออกจากเหมืองประมาณปีละ 2,500 ถึง 3,000 ตัน และทาง USGS (United States Geological Survey) ได้ประมาณการไว้ว่า เหลือทองคำใต้ดิน ที่ยังไม่ได้ผลิตออกมาประมาณ 50,000 ตัน

มนุษยชาติได้ใช้ทองคำในรูปแบบของเงินตรามาเป็นเวลานานแล้วในอดีต จนเกิดระบบการเงินในรูปของมาตรฐานทองคำ Gold Standard ซึ่งใช้กันในหลายประเทศช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 แต่หลังจากนั้น เมื่อระบบเศรษฐกิจของโลกเติบโตขึ้น และมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับมหาอำนาจของโลก ก็ทำให้ยกเลิกมาตรฐานทองคำที่ผูกกับระบบเงินตราไป

แต่หลายๆ ประเทศก็ยังเก็บทองคำไว้ในรูปแบบของทุนสำรองของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลแต่ละประเทศต่อทองคำไม่เสื่อมคลาย

รัฐบาลแต่ละประเทศก็มีการเก็บทองคำโดยธนาคารกลางของประเทศ ที่เรียกว่า ทองคำสำรอง (Gold Reserves) ไว้เพื่อเป็นทุนสำรองของประเทศ นับจนถึงเดือนกันยายน 2564 ทองคำทั้งหมดที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศรวมกันแล้วมีประมาณ 31,695 ตัน

โดยประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่สุดสิบอันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา (8,133 ตัน) เยอรมันนี (3,359 ตัน) อิตาลี (2,452 ตัน) ฝรั่งเศส (2,436 ตัน) รัสเซีย (2,299 ตัน) จีน (1,948 ตัน) สวิสเซอร์แลนด์ (1,040 ตัน) ญี่ปุ่น (846 ตัน) อินเดีย (754 ตัน) และเนเธอร์แลนด์ (612 ตัน) ตามลำดับ ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 21 (244 ตัน) ตามข้อมูลจาก tradingeconomics.com และ wikipedia.com เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564


ภาพถ่ายโดย arthurhidden : https://www.freepik.com/author/arthurhidden

ปัจจุบันมีการทำเหมืองทองคำทั่วโลกมากมายอยู่ใน 82 ประเทศโดยประมาณ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีทรัพยากรแร่ทองคำมากที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกจนถึงปัจจุบันราว 31,000 ตัน  รองลงมาเป็น ประเทศรัสเซียประมาณ 7,000 ตัน และจีนเป็นอันดับ 3 ที่ผลิตประมาณ 6,328 ตัน รองลงไปอีก ก็เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แคนาดา และเปรู เป็นต้น

ข้อมูลสรุปจาก World Gold Council เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีการจัดลำดับการผลิตทองคำจากเหมืองทองคำ ในระดับประเทศทั่วโลกว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการผลิตทองคำมากที่สุดในโลกคือ 363.8 ตันในปี 2563 คิดเป็น 11% ของการผลิตทั่วโลก รองลงมาก็เป็นประเทศรัสเซีย (331.1 ตัน)ออสเตรเลีย (327.8 ตัน) สหรัฐอเมริกา (190.2 ตัน) และแคนาดา (170.6 ตัน) ตามลำดับ และต่อมาในปี 2564 จีนก็ยังครองแชมป์ ประเทศที่ผลิตทองคำจากเหมืองทองคำในประเทศมากที่สุด

จากฐานข้อมูล GlobalData’s mines and projects ซึ่งติดตามการพัฒนา และปฏิบัติการของเหมืองแร่ และโครงการทั่วโลกที่เก็บข้อมูลจากบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 4,000 บริษัท ได้สรุปไว้ว่า 5 อันดับ เหมืองทองคำ ในจีนที่ผลิตทองคำได้มากที่สุดในปี 2563 ตามลำดับมีดังนี้

Shaxi Copper Mine เป็นเหมืองใต้ดินในมณฑลอานฮุย (Anhui) ของกลุ่มบริษัท Togling Nonferrous MetalGroup ซึ่งผลิตทองคำได้ประมาณ 730,000 ounces of gold ในปี 2563

Jiaojia Gold Mine ของกลุ่มบริษัท Shandong Gold Group ในมณฑลซานตง (Shandong) ผลิตทองคำได้ประมาณ 230,000 ounces of gold ในปี 2563 และกำลังจะปิดตัวลงในปี 2566

Dayingezhuang Gold Mine เป็นเหมืองทองคำในมณฑลซานตงเช่นกัน อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Zhaojin Mining Industry และผลิตทองคำประมาณ 228,000 ounces of gold ในปี 2563


ภาพถ่ายโดย freepik : https://www.freepik.com/author/freepik

Sanshandao Gold Mine เป็นเหมืองใต้ดินของกลุ่มบริษัท Shandong Gold Group ในมณฑลซานตง ผลิตทองคำได้ ประมาณ 218,000 ounces of gold ในปี 2563 และจะผลิตตามแผนงานไปจนถึงปี 2571

Zaozigou Gold Mine เป็นเหมืองทองคำของบริษัท Zhaojin Mining Industy ในมณฑลกานซู (Gansu) ผลิตทองคำได้ ประมาณ 207,000 ounces of gold

ในปี 2564 ลำดับการผลิตทองคำคล้ายกับของปี 2563 ต่างกันเพียงลำดับที่ 2 กับ 3 สลับกันเท่านั้น หากพูดในมุมผู้บริโภค ซึ่งหมายรวมถึงที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ การลงทุน อยู่ในธนาคารกลาง เป็นทุนสำรอง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็จะพบว่า 5 อันดับแรกของประเทศ ที่มีการบริโภคทองคำสูงสุดคือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี และ ไทย

ข้อมูลเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปบ้างจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไปในแนวทางเดียวกัน เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมเหมืองทองคำนั้นยังเติบโตอยู่ แม้ว่าเหมืองเก่าจะมีการปิดตัวไปบ้าง แต่ยังมีการสำรวจพบแหล่งแร่ทองคำใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน แสดงถึงความต้องการทองคำ นั้นยังไม่เสื่อมคลายในสังคมโลกเมื่อเทียบกับในอดีต

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 69 เดือน กรกฎาคม - กันยายน 2565

เอกสารอ้างอิง

Craig Anthony. Investopedia. (April 25, 2021). “10 Countries With The Most Natural Resources.” Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/markets-economy/090516/10-countries-most-natural-resources.asp

World Population Review. (June 6, 2022). “Gold Reserves by Country 2022.” Retrieved from https://worldpopulationreview.com/country-rankings/gold-reserves-by-country.

 Trading Economics. (June 6, 2022). “Gold Reserves.” Retrieved from https://tradingeconomics.com/country-list/gold-reserves

Metal Focus; World Gold Council. (December 31,2020). “Gold Mine Production.” Retrieved from https://www.gold.org/goldhub/data/gold-production-by-country

Carmen (Algorithmic Journalist). Mining Technology: Market Data. (September 16, 2021). “Five Largest Gold Mines In China In 2020.” Retrieved from https://www.mining-technology.com/marketdata/five-largest-gold-
mines-china-2020/

Tulika Tandon. Jagranjosh:General Knowledge. (January 10, 2022). “List Of Largest Gold Producing Countries Of The World 2021.” Retrieved from https://www.jagranjosh.com/general-knowledge/list-of-top-gold-producers-of-the-world-1638337583-1