*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เปิดตำนานสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำในเมืองไทย (ตอนที่ 1)

ณ วันที่ 05/06/2566

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวของพระเครื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับทองคำ คงจะไม่อยากพลาดเนื้อหานี้อย่างแน่นนอน สมาคมค้าทองคำ ได้รับเกียรติจาก คุณพิศาล เตชะวิภาค หรือ “ต้อยเมืองนนท์” รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ 1 และยังเป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่องที่เกี่ยวโยงกับทองคำ ซึ่งมีความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม และยังเล่าถึง 10 อันดับสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ ที่ถือว่าเป็นของหายาก และมูลค่ามหาศาลซึ่งจะได้ทยอยนำเสนอต่อไป

คุณพิศาลฯ กล่าวว่า สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2537 ขณะนี้เป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุด มีสาขาทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยสมาคมฯทำหน้าที่เป็นแกนกลางสำหรับผู้นิยมสะสมพระทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงยังให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องและพระบูชา ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชายสนใจพระเครื่องและมีความผูกพันกับพระเครื่องมานาน พระเครื่องถือเป็นสิ่งมงคลที่มักมอบให้กันในวาระพิเศษต่างๆ และชาวพุทธเกือบทุกคนมีพระเครื่องติดตัว ส่วนจะให้ความสนใจถึงที่มาที่ไปของพระองค์นั้นๆ ก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและความศรัทธา

คุณพิศาลฯ ได้เล่าต่อถึงมวลสารที่นำมาใช้ในการทำพระเครื่อง มีหลากหลายชนิดด้วยกัน และ “ทองคำ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น และถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดของมวลสาร เพราะ “ทองคำ” มีความเป็นสิริมงคล เป็นโลหะชั้นสูง มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมีสีสันสุกเหลืองอร่ามไม่มีการด่างดำ ที่สำคัญคุณค่าและราคาของทองคำนับวันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี พระเครื่องเนื้อทองคำได้สร้างขึ้นมาจำนวนมากจากหลายวัด แต่ก็ใช่ว่าพระเนื้อทองคำ จะได้รับความนิยมทุกรุ่นหรือทุกองค์ ขึ้นอยู่กับเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสก ซึ่งต้องปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ  มีความรอบรู้ มีลูกศิษย์เคารพศรัทธามากมายรวมถึงพิธีกรรมในการสร้างพระองค์นั้นๆ ด้วย  

จากการศึกษาพบว่าได้มีการนำทองคำมาทำเป็นเหรียญตั้งแต่สมัยกรีกเข้าปกครองอินเดีย ส่วนประเทศไทยน่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสุวรรณภูมิปกครองโดยชาวมอญ แต่เหรียญทองคำมีไม่มาก จนกระทั่งสมัยสุโขทัยได้มีการนำทองคำมาสร้างพระพุทธรูป แต่จะเป็นองค์เล็กๆ โดยพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ขุดพบส่วนใหญ่จะเป็นปางลีลา และจะใช้วิธีการบุ ซึ่งพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ปรากฎ ก็คือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือหลวงพ่อทองคำ หรือพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารแห่งวัดไตรมิตร

ต่อมา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นยุคทองหรือโกลเด้น ซิตี้ถือว่าเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองมาก เพราะมีการค้าขายกับต่างชาติสร้างรายได้กับประเทศชาติมหาศาล มีการใช้ทองคำมาสร้างพระและเครื่องใช้ต่างๆ มากที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องเสียทองคำไปมากที่สุดในช่วงที่พม่าเข้ามายึดเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อกรมศิลปากรทำการขุดเพื่อบูรณะวัดราชบูรณะ ซึ่งตั้งอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พบวัตถุโบราณที่ทำจากทองคำจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูปขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เหรียญที่ระลึกและได้ไปพบเหรียญที่ระลึกสมัยโรมัน อายุประมาณ 2,000 ปี ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ติดต่อค้าขายกับฝรั่ง ซึ่งเหรียญดังกล่าวได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

คุณพิศาลฯ ยังได้เล่าถึง 10 อันดับ เหรียญพระพุทธที่จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ ที่ในปัจจุบันถือว่ามีราคาสูงมาก และเป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมพระเครื่อง ได้แก่ เหรียญหลวงพ่อโสธร เหรียญหลวงพ่อพระธรรมจักร เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เหรียญพระแก้ว เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เหรียญไพรีพินาศ เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ เหรียญหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เหรียญหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี และเหรียญหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

ในตอนหน้าจะไล่เรียงกันถึงความเก่าแก่ และประวัติของแต่เหรียญว่าเป็นมาอย่างไร รวมถึงมูลค่าที่หาเช่าบูชากันอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ที่ระดับราคาเท่าไร

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 63 เดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2563