*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เปิดตำนานสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำในเมืองไทย (ตอนที่ 2)

ณ วันที่ 07/06/2566

บทความที่ผ่านมา คุณพิศาล เตชะวิภาค หรือ “อาจารย์ต้อย เมืองนนท์” รองนายกสมาคม ผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ 1 และยังเป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ได้มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่องที่เกี่ยวโยงกับทองคำไปแล้ว ต่อไป “อาจารย์ต้อย เมืองนนท์” จะมาเล่าให้ฟังถึง 10 อันดับสุดยอดพระเครื่องเนื้อทองคำ ที่ถือว่าเป็นของหายากมีมูลค่าสูง  และเป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมพระเครื่อง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ปี พ.ศ. 2460–70 ซึ่งพระในยุคนี้ถือว่ามีราคาสูงเพราะมีคนต้องการมาก อีกช่วงก็จะเป็นหลังปี พ.ศ. 2470 

   

เหรียญหลวงพ่อโสธร

เหรียญพระเครื่องทองคำ ที่ถือว่ามีความเก่าแก่มากที่สุด ก็คือ เหรียญหลวงพ่อโสธร ปี 2460 ของวัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา สร้างในสมัยพระอาจารย์หลิน โดยมีขุนศิรินิพัฒน์ มัคทายกวัด โดยการแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยได้สร้างเหรียญขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้พอเพียงสำหรับสมนาคุณแก่ผู้บริจาคทรัพย์ซ่อมแซมชุกชี ขององค์หลวงพ่อโสธร มี 4 ประเภท เหรียญทองคำ เหรียญนวโลหะหรือสำริด เหรียญทองแดง เหรียญเงิน 

ส่วนเหรียญทองคำหลวงพ่อโสธร สร้างขึ้นไม่เกิน 20 เหรียญเพราะต้นทุนสูงและวัดยังไม่มีฐานะเหมือนในปัจจุบัน เดิมทีเหรียญทองคำหลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นเหรียญแรกที่มีการบันทึกไว้ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่หลังจากศึกษาจนเป็นที่ยอมรับและปัจจุบันสนนราคาอยู่ที่ 15-20 ล้านบาท ปัจจุบันหาของแท้ค่อนข้างยาก

   

เหรียญหลวงพ่อพระธรรมจักร

เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล จ.ชัยนาท หลวงพ่อธรรมจักรนับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวชัยนาทและใกล้เคียง ต่างภูมิใจและเคารพเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการขอพรต่างๆ สำหรับเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสูงสุด คือ “เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร ปี 2461” ซึ่งเป็นเหรียญที่มีพิธีการสร้างใหญ่โตมาก ได้รับการปลุกเสกและลงอักขระเลขยันต์จากเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมถึง 3 รูป คือ หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อคง วัดบางกะพี้ และ หลวงพ่ออยู่ วัดดักคะนน ขึ้นชื่อเรื่องการอยู่ยงคงกระพัน อยู่ร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาด ป้องกันอันตราย

ทั้งนี้ เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อธรรมจักร ปี 2461 นี้ เป็นเหรียญปั๊มหูเชื่อม รูปเสมามีเนื้อทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งเนื้อทองคำคาดว่าจะมีการสร้างไม่เกิน 20 เหรียญ เป็นเหรียญที่หาชมได้ยากมาก ส่วนที่เป็นเนื้อชินตะกั่วจะสร้างด้วยการหล่อ พิมพ์ด้านหน้าเป็นรูปจำลองหลวงพ่อธรรมจักร

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 64 เดือน มกราคม - มีนาคม 2564