*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ตลาดค้าทองคำ “ปอยเปต” คึกคักไม่ต่างจากเมืองไทย

ณ วันที่ 23/06/2566

ในครั้งนี้เราจะพาไปเยี่ยมชมการค้าทองคำในประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยพาไปชมบรรยากาศการค้าทองที่ สปป.ลาวมาแล้ว โดยครั้งนี้ทางกองบรรณาธิการได้รู้จักกับทางผู้ประกอบการร้านค้าทองในประเทศกัมพูชาผ่านทางโซเชียลมีเดีย

สำหรับร้านทองที่จะพาไปให้ทุกคนรู้จักคือ ร้าน EUNG HOUT Chheng ตั้งอยู่ในตลาดปลา ใน ม.ปอยเปต จ.บันเทียเมียนจัย ประเทศกัมพูชา โดยทางคุณ OENG HUOTCHHENG ซึ่งเป็นเจ้าของร้านดังกล่าวได้เล่าให้ฟังว่า การค้าทองที่กัมพูชาอาจจะไม่ได้กำหนดมาตรฐานเปอร์เซ็นต์ทองเหมือนในเมืองไทย ที่จะใช้ทองคำเปอร์เซ็นต์เดียวกันหมดคือ 96.5 โดยร้านค้าต่างๆ ของที่ ปอยเปต ก็จะขายทองคำในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เท่ากัน จะมีทั้งทอง 99.99 ทองเค 70 - 50 - 30 และการกำหนดราคาของแต่ละร้านก็จะไม่เท่ากัน ทำให้ราคาซื้อ-ขาย ขึ้นอยู่กับพอความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย

คุณ OENG HUOTCHHENG เล่าต่อไปว่า ทองคำที่วางขายในร้านของตนส่วนใหญ่จะเป็นทอง 99.99 โดยจะคิดราคาสลึงละ 7,050 บาท ขณะที่ลวดลาย ก็จะมีทั้งที่เป็นแบบรุ่นใหม่ และแบบโบราณ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือก โดยทองที่นำมาขายก็จะผลิตในกัมพูชา เพราะค่าแรงจะถูกกว่าฝั่งไทย และฝั่งไทยจะเป็นทอง 96.5

แต่ที่ปอยเปตยอดขายทองเคจะดีกว่า เพราะราคาถูกเส้นละประมาณ 10,000 บาท บวกค่าแรงอีกประมาณ 500 บาท และหากนำมาขายคืนก็จะได้ประมาณ 9,000 กว่าบาท แต่ซื้อร้านไหนก็ต้องขายคืนร้านนั้นจะได้ราคาดีกว่า และเมื่อร้านค้าซื้อทองคำกลับมาก็จะนำไปหลอมเพื่อทำใหม่

ส่วนรูปแบบร้านทองของที่นี่ ส่วนใหญ่จะเป็นห้องเดียว ไม่ได้ติดแอร์ และการจัดร้านก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าของร้านว่าจะโชว์สินค้ามากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ดี จะมีบางร้านที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 ห้อง แต่จะไม่ได้ขายทองคำเพียงอย่างเดียวซึ่งก็จะมีสินค้าเครื่องประดับประเภทอื่นๆ ขายร่วมกันด้วย 

คุณ OENG HUOTCHHENG  เล่าต่อไปว่าสำหรับร้านของตนเปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ก่อนหน้านี้พี่ชายได้ทำธุรกิจนี้มาก่อน และตอนนี้ก็มีร้านน้องชายและเครือญาติ รวมๆ แล้วประมาณ 10 ร้าน ขณะที่ร้านค้าทองในปอยเปตมีประมาณ 100 ร้านค้า โดยได้เพิ่มขึ้นตามความเจริญของเมือง ตอนนี้พัฒนามาก ราคาที่ดินแพงเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เพราะต่างชาติเข้ามาใช้บริการในคาสิโนจำนวนมาก ส่วนร้านค้าทองของไทย มีอยู่ 1 ร้านอยู่ในบิ๊กซี คนนิยมเพราะลวดลายสวย แต่ค่าแรงจะแพงกว่า

“ลูกค้าที่มาซื้อทองส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเทศกาล หรือหลังจากที่ขายพืชผลการเกษตรได้ หากปีไหนมีรายได้มากก็ซื้อทองชิ้นใหญ่ ปีไหนได้น้อยก็จะซื้อชิ้นเล็ก และคนกัมพูชาก็นิยมใส่ทองคำติดตัวเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ แหวน ต่างหู แต่หากเป็นช่วงงานบุญก็อาจจะใส่หลายชิ้น หรือใส่ชิ้นใหญ่ที่เป็นชุด” คุณ OENG HUOTCHHENG กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าคนกัมพูชาก็น่าจะคล้ายกับคนไทยที่มีความผูกพันกับทองคำมาช้านาน และลักษณะการใช้งานก็น่าจะใกล้เคียงกัน แต่ยอมรับว่าทองไทยมีลวดลายสวยงาม และการค้าทองคำในไทยมีมาตรฐาน ซึ่งเราก็อยากจะให้เป็นแบบนั้นเหมือนกัน

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 65 เดือน เมษายน - พฤษภาคม 2564