ที่ผ่านมาเคยพาท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมการค้าทองคำที่ประเทศกัมพูชามาแล้ว ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ที่ต่างกันออกไป มาในครั้งนี้จะพาไปดูการค้าทองคำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันสั้นๆ ว่าประเทศลาว
ในครั้งนี้ กองบรรณาธิการได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณพูวง พามิสิด (Mr. Phouvong Phamisith) ประธานสมาคมทองเครื่องประดับและอัญมณีลาว และยังเป็นประธานร้านขายคำพูวง และประธานบริหารสวนพฤกษา มาให้ข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการค้าทองคำในประเทศลาว
คุณพูวงฯ กล่าวว่า ประเทศลาวได้ค้าขายทองคำมาเป็น 100 ปีแล้ว แต่เริ่มมาจัดตั้งเป็นสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2550 เริ่มแรกมีสมาชิก 20-30 ร้านค้า แต่ตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 100 กว่าร้านค้า ถือว่ามีการเติบโตพอสมควร โดยแหล่งค้าทองหลักๆ ของประเทศลาวอยู่ที่เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ สะวันเขต หลวงพระบาง และแขวงใหญ่ๆ รวมแล้ว 600 ร้านค้า ส่วนที่อื่นๆก็จะเป็นร้านเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีทุกแขวง
ในช่วงที่ยังไม่มีการตั้งเป็นสมาคม การค้าทองในประเทศลาวก็จะเป็นลักษณะต่างคนต่างขาย จนกระทั่งตนได้มาร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีที่เมืองไทยหลายครั้ง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆ และได้เห็นว่าเมืองไทยมีสมาคมค้าทองคำ ประเทศอื่นๆ ก็มีสมาคม ก็เลยมาจัดตั้งเป็นสมาคมในประเทศลาวบ้าง จากนั้นได้มีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาเป็นสมาชิกโดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านใหญ่ๆ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิก
คุณพูวงฯ ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของสมาคมฯ ในประเทศลาว ก็จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าขาย ให้การฝึกอบรมในเรื่องต่างๆ โดยร่วมมือกับสมาคมต่างๆ ทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน
“เป้าหมายสูงสุดของสมาคมฯ ก็คือ อยากให้การค้าทองในประเทศลาวมีการดำเนินงานที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล มีการส่งข้อมูลข่าวสารให้ร้านค้าเพื่อให้ทันกับโลก ซึ่งตอนนี้เราได้พัฒนาไปประมาณ 50-60% แล้ว แต่ยังต้องพัฒนามากกว่านี้ นอกจากนั้น ได้พยายามปั้นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาดูแลการดำเนินงานของสมาคม และธุรกิจค้าทองคำ” ประธานสมาคมทองเครื่องประดับและอัญมณีลาว กล่าว
ส่วนปัญหาการค้าทองคำในประเทศลาว ตอนนี้มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทั้งเรื่องผู้ประกอบการบางรายยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสมาคม แม้ที่ผ่านมาเราได้ให้ข้อมูลข่าวสารถึงความจำเป็นในการตั้งสมาคมขึ้นมา แต่ร้านค้าเล็กๆ เกรงว่าเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งความจริงแล้วไม่ต้องเสียอะไรเลย กรรมการสมาคมดูแลกันเอง ออกเงินกันเอง ไม่ใช่เงินสมาชิก
ส่วนเรื่องของคุณภาพทองคำที่วางจำหน่ายในประเทศลาวไม่มีปัญหาเรื่องเปอร์เซ็นต์ทอง เพราะหากร้านค้าใดทำเปอร์เซ็นต์ทองคำไม่ได้มาตรฐาน จะมองออกทันที เพราะสีของทองคำ 99.99 จะต่างออกไป และจะทำให้ลูกค้าบอกต่อๆ กันไป ทำให้ร้านนั้นๆ ทำการค้าไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป ดังนั้น ทุกคนจึงหันมาแข่งกันทำความดี
ประธานสมาคมทองเครื่องประดับและอัญมณีลาว กล่าวถึงการค้าทองคำของประเทศลาวว่า ทองคำส่วนใหญ่จะเป็นทองรูปพรรณ ความบริสุทธิ์ 99.99 แต่ก็จะมีชาวบ้านบางส่วนที่ซื้อทองคำแท่งไปเก็บออมบ้าง เมื่อมีกำไรก็จะนำมาขายแต่ตอนนี้ก็มีบางส่วนเริ่มหันมาลงทุนทองคำอย่างจริงจัง แต่อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งที่เป็นทองคำแท่งและโกลด์ ฟิวเจอร์ส แต่ในอนาคต กำลังปั้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพื่อพัฒนาการค้าทองของประเทศลาวให้เทียบเท่าสากล โดยมีทั้งลงทุนทองคำแท่ง ฟิวเจอร์ส และหุ้นทองคำ
“คนลาวกับทองคำก็มีความผูกพันกันมาช้านาน ทุกครอบครัวต้องมีทองคำ จะยากจนแค่ไหนก็ต้องมีทองคำติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อทำงานได้เงินมาก็นำมาซื้อทองคำเก็บเมื่อขาดเงินก็นำไปขายได้ ซึ่งการซื้อขายทองคำที่ประเทศลาวขาดทุนไม่มาก ทำให้คนส่วนใหญ่ซื้อเก็บและซื้อมาสวมใส่ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยสามารถใส่ได้ในปริมาณมากโดยไม่ต้องห่วงเรื่องของความปลอดภัยเพราะกฎหมายที่นี่ค่อนข้างเข้มงวด” คุณพูวงฯ กล่าว
ส่วนลวดลายที่ร้านค้านำมาวางขาย ในอดีตมีไม่มากหลังจากก่อตั้งสมาคมฯ ก็ได้ไปเรียนรู้จากเมืองไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย แล้วนำความรู้มาพัฒนา มีลวดลายเพิ่มขึ้น แต่จะเลือกลวดลายที่ทนทาน เพราะเนื้อทอง 99.99 จะอ่อนบาง คนใส่มา 1-2 เดือนก็จะเสียหายและต้องนำมาเปลี่ยน โดยจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนต่างของราคาซื้อ กับขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งการที่ใช้ทองคำ 99.99 ทำให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ่อย ร้านค้าก็ได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ พออยู่กันได้ โดยค่ากำเหน็จจะคิดเป็นราคาเส้นต่อเส้น เป็นชิ้นงาน ซึ่งการค้าทองในลาวไม่ได้กำไรมากมายอาศัยมีการแลกเปลี่ยนบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ ลวดลายของทองคำที่ประเทศลาว ไทย และกัมพูชา ก็ไม่ต่างกันมาก ตอนนี้ช่างในประเทศลาวพัฒนาฝีมือมากขึ้น โดยมีทั้งที่เป็นศิลปะของลาว และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้สินค้าดูดีมีความทันสมัยมากขึ้น โดยนอกจากที่จะพัฒนาในส่วนการผลิตแล้ว ทางสมาคมฯ ยังส่งเสริมในเรื่องของการออกแบบด้วย
ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 68 เดือน มกราคม - มีนาคม 2565