*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ทองเคไทยสวยงาม มาตรฐานสากล

ณ วันที่ 30/06/2566

แม้ว่าคนไทยกับทองคำจะมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่คงไม่ใช่ทองคำทุกประเภทจะได้รับความนิยมจากคนไทย ทั้งนี้ ตลาดหลักยังคงเป็นทอง 96.5% เนื่องจากมีสีสันสดใส เหลืองอร่าม มีความแข็งแรง

ขณะที่ทอง 99.99 แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับในสากล และสามารถทำชิ้นงานได้อย่างสวยงามประณีต แต่เนื่องจากเป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ จึงมีความอ่อนนุ่ม ซึ่งได้รับความนิยมอยู่เพียงคนไทยบางกลุ่ม และนิยมใช้ในการลงทุน

ส่วนทองเคนั้น แม้ว่าจะมีความสวยงาม และมีความแข็งแรง แต่ก็จะมีราคาสูง และเมื่อนำไปขายต่อจะได้ราคาไม่ดีนัก จึงทำให้ทองเคได้รับความนิยมเฉพาะผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบในสไตล์ และสีสันของทองเค ซึ่งมีอยู่หลากหลายตามโลหะอื่นๆ ที่ผสมลงไป นอกจากนั้น ทองเคยังถูกนำไปทำเป็นตัวเรือนเครื่องประดับจิวเวลรี่หรือเครื่องประดับอื่นๆ อาทิ สายนาฬิกา ตัวเรือนนาฬิกา

คุณโชคชัย อัศวกาญจนกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิชทิคโกลด์ จำกัด หรือที่รู้จักกันในวงการช่างทอง นามว่า “เฮียเส็ง” หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตทองเคในประเทศไทย กล่าวว่า เดิมทีมิชทิคโกลด์ ผลิตทอง 96.5 มาตลอด ต่อมาจึงอยากทำจิวเวลรี่ โดยเริ่มจากการทำทองคำสีดำ ซึ่งเป็น 18 เค เกิดจากออกซิไดซ์ โดยจะเป็นลักษณะสนิมทองที่เป็นสีดำใส่แล้วไม่ลอก ต่อมาพัฒนาทำเป็นเลเยอร์เพื่อใม่ให้สีดำอยู่ภายนอก ซึ่งยังไม่มีใครทำในเมืองไทย ชิ้นงานที่ผลิตออกมาได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ โดยทำงานออกมา 3 คอลเลคชั่น คือ เรนฟอร์เรส แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียวมีดีไซน์เนอร์จากแคลิฟอร์เนียมาดูงานแล้วก็ซื้อไป

ต่อมาพัฒนาทำเป็น พิงค์โกลด์ และโรสโกลด์ ซึ่งสีของพิงค์โกลด์ และโรสโกลด์ ของผู้ผลิตแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับส่วนผสมของโลหะที่ใส่เข้าไป แต่ตัวทองคำจะต้อง 75 % ส่วนผสมที่เป็นโลหะอื่นๆ 25%  ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะมีสูตรอย่างไร

นอกจากนั้น จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิ โรสโกลด์ พิงค์โกลด์ แชมเปญโกลด์ ไวส์โกลด์ เยลโลโกลด์ แบล็คโกลด์ ซึ่งชิ้นงานของแต่ละบริษัทก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เท่าที่ทำมา โรสโกลด์ ถือว่าผสมยากสุด แตกง่ายสุด แต่สวยที่สุด

คุณโชคชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเมืองไทยนิยมทองคำ 10 เค แต่ก็จะมีกลุ่มที่นิยมสวมใส่ไม่มากนัก เนื่องจากเวลาที่คนไทยซื้อของจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความคุ้มค่ามากกว่าคุณภาพของสินค้า ซึ่งทองเคเป็นสินค้าที่เวลาซื้อจะมีราคาสูงกว่าทองทั่วไป แต่เวลานำมาขายคืนกับทางร้านจะได้ราคาต่ำกว่าทอง 96.5

สาเหตุที่ทำให้ราคาทองเคแพงกว่าทอง 96.5 เนื่องจากในกระบวนการผลิตจะมีค่าสึกหรอสูงมาก และต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ค่าแรงงาน เพราะกว่าจะได้ชิ้นงานทองเคมีกระบวนการมากมายหลายขั้นตอน เพราะต้องการสีสันที่สวยงามและมีความแข็งแรง ทำให้ค่าแรงต่อชิ้นงานสูงมาก และจากกระบวนการและมาตรฐานผลิตของแต่ละบริษัทที่ต่างกัน ทำให้ลูกค้าต้องมีความมั่นใจในฝีมือการผลิตของบริษัทนั้นๆ

ดังนั้น เมื่อไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง ทองเคจึงถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า อาทิ ในแวดวงจิวเวลรี่ เพราะเรื่องของความแข็งแรง และคุณสมบัติของตัวส่วนผสมในเนื้อทองคำที่ออกมา

   

คุณโชคชัยฯ อธิบายว่า ทองเค มีตั้งแต่ 20 เค 18 เค 14 เค ซึ่งคุณสมบัติก็จะต่างกัน อย่างยุโรปนิยมนำทอง 18 เค มาทำนาฬิกา ตัวเรือนแหวน เพราะจะมีความแข็งสุด ขณะที่สีของทองเค นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังสามารถทำสีแปลกได้ ไม่ว่าจะเป็น ออเร้นโกลด์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิงค์กับโรส และยังมีทองสีม่วง ที่ทางประเทศสิงคโปร์ผสมอะลูมิเนี่ยมลงไป ถือว่ามีสีสันที่สวยงาม แต่นำมาใช้งานไม่ได้เนื่องจากมีความเปราะ แต่ถือเป็นนวัตกรรมในการผลิตทองเค นอกจากนั้น ยังมีทองสีเขียว ซึ่งสีจะออกมาในโทนเหลืองอมเขียว

มาดูมาตรฐานของทองเคกับทองคำทั่วไป โดย 1 เค เนื้อทองคำเท่ากับ 4.1666 เช่น หากเป็นทอง 18 เค ก็จะเท่ากับ 18 คูณด้วย 4.1666 = 750 ดังนั้น ทั่วโลกเรียกทองคำบริสุทธิ์ 99.99 ทางสหรัฐฯจะเรียกว่าทอง 24 เค ส่วน เค หรือ กะรัต เรียกจากการสกัดทอง ทอง 96.5 คือ 23 เค กว่าๆ  ขณะที่ทอง 22 เค = 91.66 จากนั้นก็ลดหลั่นลงไปขึ้นอยู่กับสัดส่วนของโลหะที่ผสมลงไป มีทั้ง 18 เค 14 เค แต่ต่ำกว่า 10 เค จะไม่เรียกทองคำ ซึ่งสีทองของทองเคแต่ละเกรดก็จะมีเอกลักษณ์ความสวยงามที่ต่างกัน เช่น สีของทองคำ 10 เค จะเป็นชมพูอมม่วง ขณะที่ 18 เค จะเป็นพิงค์

“เมืองไทยรู้จักทองเคไม่มากนัก คนยังไม่รู้จัก หลายคนไม่เข้าใจว่า 18 เค กับ 14 เค ต่างกันยังไง หลายคนไม่เข้าใจเพราะไม่มีแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมันต่างกันที่เปอร์เซ็นต์ทอง ส่วนอัลลอยที่ผสมเป็นสูตรใครสูตรมัน ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะใส่อะไรเข้าไป ซึ่งจะทำให้สีของทองเคที่ออกมาจะต่างกัน

ข้อดีของทองเค คือ ความแข็งแรง เมื่อเทียบกันบาทต่อบาท ทองคำ 96.5 ใช้งานได้ประมาณ 15 ปี แต่ถ้าเป็น 18 เค อยู่ได้ประมาณ 30 ปี แต่ราคาจะแพงกว่า 30-40% เนื่องจากทอง 96.5 ไม่ได้ขัดเงาเหมือนทองเค เพราะทุกครั้งที่ทองเคถูกเผาไฟจะมีออกซิไดซ์ของสนิม เมื่อขัดออกทุกครั้งจะมีค่าสึกหรอ การที่จะขัดให้เงาได้ ต้องขัดด้วยกระดาษทรายหลายเที่ยว แต่เมื่อสวมใส่แล้ว ทองเคจะดูมีรสนิยมดีกว่า เพราะสีของทองจะไม่หมองไม่ดำ หากเกิดความหม่นหมองก็ใช้ยางลบ ลบออกได้เลย”

นี่คือสาเหตุที่ทำให้ทองเคในไทยไม่ได้รับความนิยมเหมือนในต่างประเทศ เพราะราคาขายคืนจะหายไปกว่า 50% แต่ผู้บริโภคในต่างประเทศ ใช้ทองเค เป็นเครื่องประดับใช้ติดตัวไปนานๆ ไม่ได้ซื้อมาใช้แล้วหวังจะนำไปขายคืน แต่บ้านเรายึดถือทองคำเป็นความมั่งคั่งมั่นคงนอกจากการใช้เป็นเพียงเครื่องประดับ เพราะสามารถแปลงสภาพจากทองคำเป็นเงินสดได้สะดวก แม้ว่าจะยอมขาดทุนไปบ้าง หรือบางครั้งอาจจะได้กำไร

ขณะที่ทองเคเมื่อนำไปขายได้เงินน้อยลง ยกเว้นว่าจะซื้อตอนราคาทองถูกๆ เมื่อราคาทองขึ้นมาก็อาจจะได้กำไร หรือขาดทุนลดลง แต่การใส่ทองเคมันบ่งบอกถึงรสนิยมที่ต่างกันไป สีไม่เหมือนทองคำทั่วไป ความหรูหราไม่เหมือนการใส่ทองคำทั่วไป และความคงทนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี บางชิ้นงานถ้าเก็บไว้นานก็อาจจะขายได้ราคาดี เพราะมันเป็นเรื่องของคุณค่าและงานศิลปะ เพราะพื้นฐานของทองเค ก็คือทองคำยังไงก็มีมูลค่า

สำหรับการผลิตทองเคในประเทศไทย ถือว่ามีคุณภาพสูง ผลิตงานที่สวยๆ ออกมามากมาย มาตรฐานเทียบเท่ากับงานต่างประเทศ พวกแบรนด์ดังๆ อาทิ คาเทียร์ โลเร็กซ์ ซึ่งทองเคเข้ามาเมืองไทยเกิน 50 ปี ความนิยมเพิ่มขึ้น คนรู้จักมากขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น และถือว่ามีอนาคตในระดับหนึ่ง โดยมองว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้น ก็อาจจะทำให้ทองเคเป็นที่นิยมมากขึ้นได้

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 68 เดือน มกราคม - มีนาคม 2565