*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เปิดประวัติสงครามสะเทือนโลก: รัสเซียและยูเครน

ณ วันที่ 06/07/2566


ภาพถ่ายโดย freepik : https://www.freepik.com/author/freepik

การเคลื่อนทัพของรัสเซียเข้าโจมตีประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการระดมกำลังทางทหารในยุโรป ที่ใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลกในวงกว้าง ทำให้ราคาน้ำมันก๊าซธรรมชาติและราคาสินค้าพื้นฐานต่างๆ เช่น เหล็ก ข้าวสาลี ฯลฯ ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่ารวมถึงราคาทองคำเช่นกันที่กระโดดไป เหนือ 2,000 เหรียญต่อทรอยออนซ์อีกครั้ง (หลังจากที่เคยทำราคา สูงสุดมาแล้วในช่วงเกิดไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่ราคาสูงสุด 2,074 เหรียญต่อทรอยออนซ์) และทำให้ราคาทองคำแท่งในไทยพุ่งไปสู่จุดสูงสุดที่ 32,100 บาทต่อบาททองคำ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงอย่างไร เมืองหลวงของยูเครนกำลังโดนรัสเซียถล่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเจรจาทางการทูตก็ดำเนินต่อไป

ดังนั้น เรามาลองย้อนกลับไปดูกันว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น แท้จริงแล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร

เริ่มจากสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตที่เรียกกันสั้นๆว่า สหภาพโซเวียต เคยเป็นประเทศขนาดใหญ่ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2465 หลังจากการโค่นล้มการปกครองระบอบจักรวรรดิรัสเซียของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของราชวงศ์โรมานอฟ ให้สละราชสมบัติ และก็มีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ

แต่วลาดิเมียร์ เลนิน ที่ผู้นำของพรรคบอลเชวิคไม่เห็นด้วย จึงทำการปฏิวัติยึดอำนาจมาบริหารประเทศ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาก็ล่มสลายลงในปี 2534 ภายใต้ผู้นำคนสุดท้ายคือ ประธานาธิบดี กอร์บาชอฟทำให้รัฐต่างๆ ของสหภาพโซเวียตแตกแยกกลายเป็นรัฐเอกราชทั้งหมด 15 รัฐ โดยยังมีสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ยังดำเนินนโยบายโดดเด่นในฐานะที่เป็นรากเหง้าแห่งอำนาจของสหภาพโซเวียตเดิม ภายใต้ประธานาธิบดีคนแรก คือ บอริส เยลต์ซิน และมี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเยลต์ซินฯ ลาออกและส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีต่อให้กับปูตินฯ ในปี 2542 ตามที่ได้วางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองแต่แรกแล้ว

ส่วนประเทศยูเครน (ที่พวกเราส่วนใหญ่คงรู้จักประเทศนี้ไม่มากไปกว่าเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่อยู่ใกล้รัสเซีย) นับเป็นประเทศ ที่ถือว่ามีพื้นที่มากเป็นอันดับสองในทวีปยุโรปรองจากรัสเซีย ยูเครนก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาพอสมควร โดนยึดครองจากประเทศมหาอำนาจมาก็หลายครั้ง

หากเริ่มจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็จะพบว่า ยูเครนเคยประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซีย และราชวงศ์ ฮับสบวร์ก ในปี 2461 เป็นครั้งแรกมาแล้ว เพราะแต่เดิมนั้น ดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ถูกปกครองโดยอาณาจักรต่างๆ เช่น รัสเซีย โปแลนด์ ออสโตร-ฮังกาเรียน ลิทัวเนีย เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีกระแสการปฏิวัติในจักรวรรดิรัสเซียที่ก่อตัวขึ้นและได้ลุกลามมายังยูเครนจนเกิดสงครามกลางเมือง


ภาพกราฟฟิกโดย  wirestock  : https://www.freepik.com/author/wirestock

เหตุการณ์ความไม่สงบนี้เกิดจากความแตกแยกของคนยูเครนที่มาจากหลายเชื้อชาติ เป็นเหตุให้ดินแดนทางตะวันตก ของยูเครนถูกยึดไปผนวกรวมกับโปแลนด์ ส่วนดินแดนตอนกลางกับทางตะวันออกถูกยึดไปผนวกรวมกับรัสเซียในปี 2465 ภายใต้ระบอบสหภาพโซเวียต และผลที่ตามมาคือชาวยูเครนในพื้นที่นี้ก็ถูกบังคับให้เลิกใช้ภาษาของตัวเอง สูญเสียอิสรภาพไปอีกครั้ง

ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยูเครนให้การสนับสนุนกองทัพนาซีของเยอรมัน เพราะต้องการที่จะเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่โชคร้ายที่กองทัพนาซีนั้นโหดเหี้ยมกดขี่และทารุณมาก สังหารชาวยิวในยูเครนไปกว่าล้านคน และทำลายกรุงเคียฟจนราบคาบ ยูเครนจึงเปลี่ยนใจหันกลับไปสนับสนุนโซเวียตแทน ต่อมาภายหลังเมื่อกองทัพนาซีบุกตีโปแลนด์ในปี 2482 (ใกล้จะจบสงครามโลกครั้งที่สองในดินแดนยุโรป) ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครน เดิมที่อยู่ภายใต้โปแลนด์ก็ถูกผนวกรวมเข้ากับสหภาพโซเวียตอีกครั้ง

หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหภาพโซเวียต ทำให้คนยูเครนเริ่มไม่พอใจรัสเซีย ตามมาด้วยโศกนาฏกรรมในปี 2529 เรื่องการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Chernobyl (เป็นเตาที่นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียเป็นผู้ไปติดตั้งเมื่อปี 2520) ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมในยูเครนและมีการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเอง

จนสุดท้ายก็ได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตอีกเป็นครั้งที่สองในปี 2534 และมีการปกครองเป็นแบบระบบ กึ่ง ประธานาธิบดีเช่นเดียวกับรัสเซีย ภายหลังต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยูเครนและรัสเซียก็ลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นอยู่ที่ตัวผู้บริหารประเทศ คือ ประธานาธิบดีของยูเครนนั้นจะเอนเอียงไปทางรัสเซียหรือทางตะวันตก

ขอย้อนกลับไปช่วงปี 2534 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงนาโต้ (NATO: NORTH ATLANTIC TREATY ORGANIZATION หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ก็แผ่ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออก และได้ผนวกรวมกลุ่มประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันออก ที่เคยอยู่ภายใต้ร่มเงาของระบอบคอมมิวนิสต์ เช่น Lithuania, Latvia, Estonia, Poland, Romania ให้เข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ ทำให้กองกำลังทหารของนาโต้สามารถเข้ามาตั้งฐานทัพบริเวณชายแดนของประเทศสมาชิกซึ่งอยู่ห่างจากมอสโคว์ที่เป็นเมืองหลวงของรัสเซียเพียงไม่กี่ร้อยไมล์เท่านั้น ทำให้รัสเซียมองว่านี่อาจจะเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงในอนาคต และปูตินในฐานะผู้นำประเทศก็จะมีหน้าที่ต้องลดความเสี่ยงของภัยคุกคามนี้

นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศมีความเห็นค่อนไปในทางเดียวกันว่า โดยพื้นฐานของผู้นำ เช่น ปูตินฯ ที่มีความเป็นชาตินิยมสูง เห็นว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นคือ ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในศตวรรษที่ 20 ที่เป็นสาเหตุให้รัสเซียต้องหลุดออกจากโผการเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจโลก

ดังนั้น ปูตินฯ จึงใช้เวลากว่า 22 ปี หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบริหารประเทศในสมัยแรก ปรับกำลังพลทางทหารตลอดจนขยายเขตอิทธิพลทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่กองกำลังทหารนาโต้ พยายามขยายเขตอิทธิพลเข้ามาเพื่อกดดันรัสเซียตลอดมา


ภาพกราฟฟิกโดย pch.vector : https://www.freepik.com/author/pch-vector

จนเมื่อปี 2551 ที่นาโต้ประกาศแผนการในอนาคตที่อาจจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนั้น เราเชื่อว่าปูตินฯ เองคงต้องตอบโต้กลับเพื่อกำจัดภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงที่ร้ายแรงนี้หนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่ผ่านมาคือข้อความที่ปูตินฯ ได้ยืนยันตลอดมาว่า ยูเครนก็คือส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยอ้างรากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

ในปี 2557 เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกแย่ลงอย่างมาก โดยเริ่มจากการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีของยูเครนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับทางรัสเซีย (ความหมายคือว่า เป็นประธานาธิบดี ที่ฝักใฝ่ในรัสเซียนั่นเอง) ให้ออกจากตำแหน่ง และมีเรื่องการทำประชามติของไครเมีย ( Crimea ) ที่ต้องการจะรวม เข้ากับรัสเซีย หรือจะอยู่กับยูเครนเช่นเดิม ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นจนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ไครเมีย ขณะที่กองกำลังทหารรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการซ้อมรบทางเรืออย่างทันที และอยู่ๆก็ปรากฏว่ามีทหารติดอาวุธ สวมหน้ากาก โดยไม่มีเครื่องยศบุกเข้ายึดอาคารสำคัญๆ ในไครเมีย เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการทูตในเขต ปกครองตนเองไครเมีย ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อเราขอกล่าวถึงรัฐไครเมียกันสักนิด

ไครเมีย (Crimea) นั้นเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองแห่งเดียวของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ทางตอนใต้บนชายฝั่งด้าน เหนือของทะเลดำ (Black Sea) พื้นที่ครอบคลุมถึงแหลมไครเมียมีเมืองหลวงชื่อ ซิมเฟโรปอล (Simferopol) ตั้งอยู่กลางแหลม ประชากรส่วนใหญ่ 58% มีเชื้อสายรัสเซีย 24% มีเชื้อสายยูเครน 12% เป็นชาวไครเมีย พื้นเมือง เชื้อสายทาทาร์ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายเบลารุสร์ และโรมาเนียน

จากสัดส่วนความหลากหลายของประชากรนี้ทำให้ไครเมียมีความเปราะบางต่อการเกิดความตึงเครียดด้านการแบ่งแยกดินแดนเพื่อมาขึ้นตรงต่อรัสเซีย และสุดท้ายก็ปะทุขึ้นในปี 2557 ที่มีเหตุการณ์การขับไล่ผู้นำประเทศจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลของยูเครนที่ฝักใฝ่ในรัสเซียได้สำเร็จ ส่งผลให้คนยูเครนเชื้อสายรัสเซียที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศกลัวจะถูกกดดันกดขี่ จึงต้องการแยกตัวออกไปเข้าร่วมกับรัสเซียแทน มุมมองทางด้านรัสเซีย ที่ต้องการไครเมียเช่นกันก็เพราะเหตุผลหลักๆ ดังนี้

1) ใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือทะเลดำของรัสเซียโดยแลกเปลี่ยนกับการลดค่าก๊าซธรรมชาติที่ส่งให้จากรัสเซียไปยังยูเครน

2) ใช้ยูเครนเป็นเส้นทางเดินท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางพลังงานที่สำคัญของรัสเซีย

3) เพื่อกันไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ ซึ่งอาจทำให้นาโต้สามารถวางกองกำลัง ในยูเครนที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย

จากวิกฤตการณ์ไครเมีย จนมาถึงการโจมตียูเครนตะวันออกในภูมิภาคดอนบาส ที่รัสเซียประกาศให้การรับรองสถานะรัฐอิสระแก่ โดแนตสค์ และลูกานสค์ ที่เดิมเป็นรัฐปกครองตนเอง ความรุนแรงเริ่มก่อตัวมากขึ้น เห็นได้จากการที่กองกำลังทหารของรัสเซียได้บุกเข้าไปโจมตีกรุงเคียฟที่เป็นเมืองหลวงของยูเครนอย่างต่อเนื่อง

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า สงครามแย่งดินแดนกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่พยายามดึงมหาอำนาจทั้งสองขั้ว คือ ทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก ให้เข้ามาร่วมวงกันนี้ จะจบกันอย่างไรและเมื่อไหร่ หากยังไม่สามารถหาแนวทางในการแก้ ปัญหาอย่างประนีประนอม ก็อาจเกิดปัญหาใหม่ซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีก การเมืองระหว่างประเทศจะเริ่มร้อนแรงขึ้น เพราะรัสเซียใช้ยุทธศาสตร์เอาตัวรอด โดยพยายามผนึกกำลังระหว่าง รัสเซีย-อินเดีย-จีน เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ในยุค Multi Polar World

นอกจากนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลก จากแหล่งข่าวที่ว่าจีนเตรียมการที่จะยกเครื่องระบบ WECHAT PAY ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง TENCENT ให้กลายเป็นบริษัท HOLDING ทางการเงิน เรามองว่า นี่อาจเป็นการเตรียมการเพื่อจัดตั้งระบบการเงินสำหรับเชื่อมต่อดิจิทัลหยวนของจีนกับอีกหลายประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ (รวมถึงรัสเซียด้วย) และอาจรวมไปถึงระบบ ALIPAY ของ ALIBABA ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเข้ามาร่วมมีบทบาทด้วย

เอกสารอ้างอิง

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.  SCC Weekly Focus. (17 -23 มีนาคม 2557). “CRIMEA: ปฐมบทครั้งใหม่แห่งสงครามยะเยือก”, บทความวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศราย สัปดาห์ ฉบับที่ 25/57.  Retrieved from  https://www.sscthailand.org/uploads_ssc/025-SWF_P025__17_-_23_Mar_2014.pdfAdi Robertson and Jay Peters. THE VERGE. (2021, October 4). “What is the metaverse? And do I have to care? One part definition, one part aspiration, one part hype.” Retrieved from https://www.theverge.com/22701104/metaverse-explained-fortnite-roblox-facebook-horizon

Dan Bilefsky, Richard Perez-Pena and Eric Nagourney. THE NEW YORK TIMES. (2022, March 11). “The Roots of the Ukraine War: How the Crisis Developed.”  Retrieved from https://www.nytimes.com/article/russia-ukraine-nato-europe.html

ที่มา : วารสารทองคำ ฉบับที่ 68 เดือน มกราคม - มีนาคม 2565