*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ทองในสมัยอยุธยาตอนต้นมาจากไหน?

ณ วันที่ 02/03/2567

ตามที่เรารู้กัน ว่าประเทศไทยค้นพบแหล่งทองในช่วง “อยุธยาตอนปลาย” แต่จากเครื่องทองที่พบในกรุปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปี 2500 และ วัดพระราม ในปี 2501 จึงเป็นที่ยืนยันแล้วว่า อยุธยามีทองมาตั้งแต่ “สมัยอยุธยาตอนต้น” แล้ว 

การค้นพบในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ว่า  “แล้วทองคำเหล่านี้มาจากไหน ในเมื่อสมัยนั้น แหล่งขุดทองยังไม่มีการถูกค้นพบ?” จากการประมวลข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ พบว่าอยุธยาได้ทองมาจากภายนอกจาก 3 ทางด้วยกัน คือ 

 

วัดพระราม / Tourism Authority of Thailand.

 

กรุปรางค์ วัดราชบูรณะ  / Tourism Authority of Thailand.

 

1. ส่วยบรรณาการ

จากบันทึกของ โยสต์ เซาเต็น (Joost Schouten) พ่อค้าฮอลันดา ที่เข้ามาทำการค้าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ระบุไว้ว่า ส่วยที่ได้รับมาจากหัวเมืองประเทศราช ในรายการส่วยบรรณาการนั้นมี “ทอง” รวมอยู่ด้วย เพราะอำนาจต่อหัวเมือง แสดงออกผ่านจำนวนทองที่คนผู้นั้นครอบครองอยู่ โยสต์ เซาเต็น ยังได้บอกด้วยว่า การที่กษัตริย์อยุธยา เป็นผู้ครอบครองทองเป็นอันมากนี้ทำให้ “ทรงได้รับสมญาว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งพระองค์หนึ่งทางแถบอินเดีย”

 

2. สินสงคราม

แม้ว่าส่วนนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่เป็นที่คาดไว้ว่า สินสงครามที่ได้มาจากการเก็บริบเอามาจากบ้านเมืองที่แพ้สงคราม  ในจำนวนทรัพย์สินของมีค่าต่าง ๆ ที่อยุธยาได้รับมาเหล่านั้น ต้องมีทองรวมอยู่ด้วยและเมื่ออยุธยาตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทองและอัญมณีมีค่าส่วนหนึ่งก็จะถูกถ่ายโอนไปยังบ้านเมืองอื่นเช่นกัน

 

3. การค้าขาย 

จากบันทึกของ โยสต์ เซาเต็น (Joost Schouten)  ได้กล่าวถึง การที่เหล่าพ่อค้าต่างชาติมักนำทองเข้ามายังอยุธยา โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพระคลังสินค้า ตามบันทึกของอาลักษณ์ในคณะทูตเปอร์เซีย ที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  ได้ระบุถึงดินแดนแหล่งทองโพ้นทะเล ที่มีการติดต่อกับอยุธยา เช่น ศรีลังกา คาบสมุทรมลายู อาเจะห์ หมู่เกาะอันดามัน มะนิลา และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะที่มะนิลาภายใต้การปกครองของสเปนสมัยนั้น อาลักษณ์ของคณะทูตเปอร์เซียยังระบุด้วยว่า “มีชาวจีนมาอาศัยที่เกาะนี้ ส่วนมากเป็นช่างทอง และช่างแกะสลัก” 

 

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งอัญมณีสำคัญ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่มีการทำเหมืองขุดทองมาตั้งแต่โบราณ เช่น ล้านช้างและกัมพูชา ก็มีหลักฐานข้อมูลกล่าวถึงการนำทองจากบริเวณดังกล่าวนี้มายังอยุธยา เช่น จดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ระบุว่า พ่อค้าลาวล้านช้างได้นำเอาแร่อัญมณี ที่ขุดได้จากเหมืองของตนเอง เช่น “ทองคำ ทับทิม มุกดาหาร (Moonstone) ” ไปขายให้แก่อยุธยา ล้านนา และกัมพูชา

 

ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าการที่อยุธยามีทองคำอยู่มากมายนั้น ไม่ได้เพราะมีแค่การขุดหรือหาจากแหล่งธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีช่องทางอีกมากมายที่จะนำทองคำเข้าสู่อยุธยา ไม่ว่าจะเป็น ส่วยบรรณาการ สินสงคราม หรือการค้าขาย จึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดโปรตุเกสจึงได้ติดต่อเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำการค้ากับอยุธยา เกือบจะทันทีที่ยึดเมืองท่ามะละกาได้ ในเมื่อ อยุธยา เวลานั้นเป็นแหล่งที่มีเหรียญทองซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวยุโรปเป็นอันมาก อีกทั้ง ทองอยุธยา ยังมีค่าในระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรามากกว่าเหรียญพื้นเมืองในมลายูสมัยนั้น

 

แหล่งอ้างอิง

ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/history/article_115306#google_vignette

Museum Thailand : https://www.museumthailand.com/th/4454/storytelling/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1/

Museum Siam : https://www.museumsiam.org/museumcore_Ratburana

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ :https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.2589.1.0.html

picture : https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/1312/

https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/1514/

https://www.facebook.com/photo/?fbid=818312124952351&set=a.410266515756916