*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ทองคำกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งให้แก่ชาวไทย ในปี 68

ณ วันที่ 04/12/2567

ในปัจจุบัน ทองคำยังคงถูกมองว่าเป็นทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความผันผวน เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพและมีมูลค่าทางการเงินสูง ส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจสะสมทองคำเป็นทรัพย์สินระยะยาว นอกจากนี้ การซื้อขายทองคำยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการลงทุนที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของคนไทยกับทองคำในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือสังคม ส่งผลให้ตลาดทองคำในประเทศไทยมีความต้องการที่แข็งแกร่ง และยังคงครองตำแหน่งตลาดที่มีการเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกันถึงสองไตรมาสในปี 2567 

 

นอกจากนี้ ทองคำยังสามารถส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของทั้งรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การเข้าถึงบริการทางการเงินนั้นหมายถึงการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์ สินเชื่อ ประกันภัย และระบบการชำระเงิน ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อบุคคลและครัวเรือนมีความมั่นคงทางการเงิน ก็จะมีแนวโน้มในการลงทุนหรือเริ่มต้นธุรกิจเพิ่มมากขึ้น  และช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

 

 

การเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย

 

รายงาน Global Findex Report ฉบับล่าสุดของธนาคารโลกในปี 2564 ได้ระบุว่า อัตราการเข้าถึงบัญชีธนาคารสำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 71% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 77% ซึ่งถือว่าได้พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 51% ในปี 2554 โดยประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2560 คนไทยจำนวน 82% มีบัญชีธนาคาร และในปี 2564 ตัวเลขนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 95.6% โดยคนไทย 67.1% มีเงินออมกับธนาคาร และ 92% ได้ดำเนินการชำระเงินผ่านทางระบบดิจิทัล ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ 82.1%, 61.4% และ 78.1% ตามลำดับ

แม้ว่าการเข้าถึงบัญชีธนาคารจะอยู่ในระดับสูง แต่ประเทศไทยก็ยังคงมีโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงินด้านอื่น ๆ เช่น การเข้าถึงบริการสินเชื่อของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อยู่ที่ 30.4% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC ที่ 38.2% เนื่องจากประชาชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จำกัด และกลัวการถูกปฏิเสธ สินเชื่อ โดยผลสำรวจพบว่าในปี 2567 การกู้ยืมเงินนอกระบบได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเนื่องจากผู้กู้สินเชื่อนอกระบบมักต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 15% ที่กฎหมายกำหนดไว้

 

เสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยนวัตกรรม

 

ปัจจุบันมีการเปิดรับนวัตกรรมและแนวคิดริเริ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ในตลาดประเทศจีน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมาเลเซีย ได้นำเสนอบัญชีเพื่อการลงทุนในทองคำ ขณะที่ธนาคารในประเทศตุรกีนั้นได้เปิดให้บริการทั้งการรับซื้อคืนทองคำ พันธบัตรทองคำ เช็คทองคำ และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ด้านรัฐบาลไทยก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ก้าวหน้าในการผลักดันทองคำในระบบดิจิทัล โดยได้เปิดให้ผู้ค้าทองคำแท่งนำเสนอบริการออมทองและลงทุนซื้อขายทองคำออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ร่วมกับธนาคารกรุงไทยให้กับประชาชน ทำคนไทยสามารถซื้อขายทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ตามราคาตลาดโลกได้แบบเรียลไทม์ โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 มูลค่าการออมทองคำในระบบออนไลน์ของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 60-70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ผู้ค้าทองคำแท่งรายสำคัญของไทย วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์ เนชั่นแนล (YLG Bullion International) ได้รายงานว่าบริษัทมีจำนวนบัญชีซื้อขายทองคำออนไลน์ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 70% ผ่านแอปเป๋าตังในช่วงดังกล่าว แอปพลิเคชันต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์สามารถเสริมสร้างรูปแบบบริการใหม่ ๆ ให้กับผู้ค้าทองคำแท่งในระบบแบบดั้งเดิม ผ่านการขยายเครือข่ายและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทองคำให้มากยิ่งขึ้น

 

การใช้ทองคำเพื่อช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

 

ทองคำสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างและสนับสนุนบริการทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง ทองคำได้ช่วยคนไทยในชนบทซึ่งมักใช้บริการโรงรับจำนำเพื่อเข้าถึงสินเชื่อเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเกษตร และตอบสนองต่อความต้องการเงินทุนที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยในปี 2566 สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ซึ่งเป็นโรงรับจำนำของรัฐ ได้รับจำนำทรัพย์รวมเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท และทองคำคิดเป็นสัดส่วนถึง 88% จากจำนวนทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกนำมาจำนำรวม 1.1 ล้านรายการ  

 

นอกจากนี้ ทองคำยังเป็นหลักประกันที่สำคัญให้กับคนไทย ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตลาดทองคำแท่งของไทยได้บันทึกสถิติการขายสุทธิ 81.5 ตัน เนื่องจากครัวเรือนจำเป็นต้องขายทองคำที่ถือครองออกมาเพื่อใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนในยามจำเป็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทองคำจึงช่วยตอบสนองความต้องการทั้งในทางการเงินและในเชิงวัฒนธรรม เป็นการสะสมเงินทุนที่สามารถคงมูลค่าในระยะยาว[MM1] [Vera2]  มีสภาพคล่องสูงซื้อขายได้ง่าย และช่วยปกป้องเงินทุนจากความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการบรรลุเป้าหมายนโยบายสาธารณะด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

 

บทบาทของทองคำ ในการบรรลุเป้าหมายด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน

 

เสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบธนาคาร

 

จากการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดค้าปลีกระดับโลกของสภาทองคำโลก พบว่า 61% ของผู้บริโภคในประเทศที่ทำการศึกษามีความเชื่อมั่นในทองคำมากกว่าในสกุลเงินต่าง ๆ  นอกจากนี้ 65% ยังเชื่อว่าทองคำจะไม่มีวันสูญเสียมูลค่าในระยะยาว และ 67% มองว่าทองคำเป็นเครื่องมือที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงที่ดีในภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินมีความผันผวน ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็ได้ยอมรับทองคำในฐานะปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของธนาคารกลางมาอย่างยาวนาน ช่วยดึงดูดนักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคารโดยรวมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ร่วมขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการ และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินในปี 2568

 

ความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง และผลตอบแทนที่มองเห็นชัดได้ของทองคำนั้นจะโดดเด่นเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยข้อมูลระหว่างปี 2514 - 2566 ได้แสดงให้เห็นว่าภายในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว ทองคำได้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 1.79% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในระยะยาวถึงเกือบ 3 เท่า ในขณะที่เราได้ก้าวเข้าสู่ปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่คาดการณ์ว่าจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทองคำสามารถเป็นเครื่องมือที่มอบความมั่นคงปลอดภัยในสภาวะที่มีความผันผวน และเป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนอย่างมีศักยภาพให้กับทั้งรัฐบาลและบุคคลทั่วไป รวมทั้ง สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม

 

 

บทความโดย 

แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor)

หัวหน้าภูมิภาคตะวันออกกลางและฝ่ายนโยบายสาธารณะ สภาทองคำโลก