*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ราคาทองคำแตะ 3,000 เหรียญสหรัฐ ก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ณ วันที่ 17/03/2568

ราคาทองคำแตะ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นครั้งแรกระหว่างวัน ในช่วงเช้าวันที่ 14 และ 17 มีนาคม อย่างไรก็ตาม ราคาปิดอย่างเป็นทางการจาก London bullion market (LBMA) ในวันจันทร์อยู่ที่ 2,996.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่าระดับ 3,000 ดอลลาร์เล็กน้อย 

โดยเหตุการณ์นี้เป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่นักลงทุนและสื่อทั่วโลก เพราะเป็นสัญญาณว่าทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่แข็งแกร่ง และอาจสะท้อนถึงความกังวลของตลาด ในประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ

จอห์น รีด (John Reade) นักกลยุทธ์การตลาดอาวุโส ประจำยุโรปและเอเชีย สภาทองคำโลก (World Gold Council) ให้ความเห็นเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาทองคำว่า “การที่ราคาทองคำทะลุ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ นั้น สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดผันผวน 

จากราคา 1,000 เหรียญสหรัฐในช่วงวิกฤตการเงิน สู่ 2,000 เหรียญสหรัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทองคำได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะที่ตลาดมีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจเทียบเคียงได้กับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นับตั้งแต่ปี 2514”    

จอห์นฯ ยังชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2565 ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนในอดีต เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณการซื้อทองคำเป็นสองเท่า ประกอบกับความต้องการลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น 

“ธนาคารกลางทั่วโลกเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่อย่างต่อเนื่องมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมียอดซื้อมากกว่า 1,000 ตันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2565 และล่าสุดในปี  2567 มียอดซื้อถึง 1,045 ตัน 

เราเชื่อว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเพิ่มปริมาณขึ้นนี้ ทั้งในแง่ของการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการแบ่งขั้วทางอำนาจ การซื้อทองคำของธนาคารกลาง จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความต้องการในตลาด และส่งผลต่อทิศทางของราคาทองคำในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน นักลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เริ่มมีอิทธิพลต่อตลาดทองคำมากขึ้น นอกจากแนวโน้มดังกล่าว การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมายังได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจทองคำในฐานะเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่สำคัญ”

จอห์นฯ กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองในขณะนี้คือ ราคาทองคำจะสามารถรักษาระดับเหนือ 3,000 เหรียญสหรัฐได้หรือไม่ แม้ว่าสถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นในตลาดทองคำ แต่การที่ราคาจะรักษาระดับนี้ได้ จำเป็นต้องเห็นแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนในประเทศตะวันตก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการเพิ่มปริมาณการซื้อครั้งใหญ่จากกลุ่มธนาคารกลาง”

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.gold.org/goldhub/gold-focus/2025/03/you-asked-we-answered-gold-hits-3000-what-comes-next