*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

ปัจจัยที่น่าจะกระทบต่อราคาทองคำในปี 2556

ณ วันที่ 13/12/2555

HTML Online Editor Sample

 

     สวัสดีท่านสมาชิกทุกท่าน ย่างเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2555 กันแล้วนะครับ ปีนี้ราคาทองคำร้อนแรงน้อยกว่าปีที่แล้วที่สามารถสร้าง All time High ได้ในเดือนสิงหาคม ขณะที่หลายสำนักต่างคาดการณ์กันว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ 2556 ราคาทองคำจะสามารถกลับมาดึงดูดใจนักลงทุนได้อีกครั้ง ทำให้จุลสารฉบับส่งท้ายของปีนี้ขอข้ามไปจับประเด็นร้อนของปีหน้าโดยการติดตามคาดการณ์ทำให้สามารถจับประเด็นได้ว่าเรื่องร้อนในปีหน้าคงหนีไม่พ้น US Fiscal crisis, Eurozone debt crisis และ Expansion Monetary policy นอกเหนือจากนี้ยังมีการซื้อขายเก็งกำไรและการสะสมของบรรดากลุ่มนักลงทุนระยะยาว โดยมีปัจจัยที่น่าจะกระทบต่อราคาดังนี้

    ทิศทางราคาทองคำในปี 2556 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเดิมในปี 2555 โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางจีน (PBOC) จากการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ซึ่งเชื่อว่าจะยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2556 จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการคลังสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) และปัญหาหนี้สินยุโรป ส่วนจีนนั้นต้องมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มมากขึ้นจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแม้จะไม่ได้เป็น Hard Landing อย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่เศรษฐกิจที่กลับมาเติบโตแบบเลขตัวเดียวในปี 2555 ก็ถือว่ากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ นโยบายทางการเงินสหรัฐฯ เชื่อว่าจะมีการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับผลกระทบของ Fiscal Cliff โดยถ้าไม่สามารถต่ออายุมาตรการภาษีได้ทัน มาตรการทางการเงินอย่าง QE3และการคง FED Fund Rateในระดับใกล้ศูนย์จะยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ Operation Twist ที่จะหมดอายุในช่วงปลายปี 2555 อาจจะมีการต่ออายุ ซึ่งจะทำให้ทิศทางของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่วนวิกฤติหนี้ยุโรปเชื่อว่าจะกระทบต่อตลาดการลงทุนตลอดทั้งปี 2556 ทำให้ความผันผวนในตลาดการลงทุนปีนี้ยังมีต่อเนื่อง ปัจจัยเงินเฟ้อในปี 2556 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่น่ากังวลเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานอาจจะลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนอุปสงค์ทองคำเชื่อว่ามีต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนของธนาคารกลางแต่อาจจะถูกชดเชยจากอุปสงค์ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่ลดลง ค่าเงินบาทคาดเฉลี่ยทั้งปีแข็งค่าขึ้นจากนโยบายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ เงินทุนไหลเข้า แต่เชื่อดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลง 0.25-0.50% จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ลดลง  

     ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเชื่อว่ายังเป็นปัญหาหลักในปี 2556 สหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาหนักด้านการตัดลดการใช้จ่ายด้านการคลัง หรือที่เรียกว่าหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ซึ่งอาจจะต้องตัดลดรายจ่ายกว่า 6 แสนล้าน (ถ้าไม่สามารถต่ออายุมาตรการภาษีได้ทัน) หรือตัดลดรายจ่ายประมาณ 8.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามกฎหมายตัดลดรายจ่าย 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้สหรัฐฯ เรามองว่าการใช้จ่ายที่ลดลงของภาครัฐจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับที่น้อยกว่า 2% ในปี 2556    การจ้างงานในส่วนของพนักงานรัฐ      โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญที่ถูกตัดลดรายจ่าย บวกกับบัณฑิตที่จบใหม่ จะทำให้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่า 7%         ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ FEDทำให้เชื่อว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ  จะมีอย่างต่อเนื่องในปี 2556 โดยเฉพาะมาตรการ QE3     ที่จะเพิ่มปริมาณเงินเดือนละสี่หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐในการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องทำให้  Monetary Baseอาจจะสูงกว่า   2,800 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ   ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากระดับที่เป็นอยู่ปัจจุบันรวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในตลาด

     ตลาดการจ้างงานซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้ในการกำหนดนโยบาย ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยในปี 2556 เชื่อว่าตลาดสหรัฐฯ  จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้นโดยเฉพาะยุโรปที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างช้า ๆ ขณะที่รัฐยังต้องตัดลดรายจ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและไม่สร้างปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งถ้าเทียบเคียงวิกฤติดอทคอมในช่วงปี 2544 ใช้เวลาถึง 5 ปีในการฟื้นตลาดการจ้างงานขณะที่วิกฤติ subprime มีขนาดความเสียหายมากกว่า และกระทบต่อภาคธนาคารซึ่งเป็นกลไกหลักในการเดินเศรษฐกิจ ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจึงประเมินว่าตลาดจ้างงานสหรัฐฯจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

     ตลาดเกิดใหม่อาจจะมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มมากขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก ประการแรกผลกระทบจาก QE3 สหรัฐฯ ทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระทบต่อการค้าขายระหว่างประเทศ จึงเชื่อว่าในปี 2556 การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศเกิดใหม่จะผ่อนคลายมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอย่างเสรี ดังจะเห็นว่าในช่วงหลังการออกมาตรการ QE3 ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีการเข้าดูแลค่าเงินอย่างธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารบราซิล ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รวมถึงธนาคารกลางจีน

  ปัจจัยด้านเงินเฟ้อปี 2556 เชื่อว่าจะผ่อนคลายกว่าปี 2555 จากอุปสงค์ในการบริโภคและด้านพลังงานที่ลดลงตามภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศพัฒนาอย่างกลุ่มยูโรโซน ทำให้การขึ้นราคาสินค้าไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดีความเสี่ยงในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยาก การปะทะทางทหารระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจจะทำให้ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อกลับมาได้ นอกจากนี้ปัจจัยด้านภัยธรรมชาติถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อ

    ความต้องการทองคำในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติ Subprime โดยเฉพาะการถือครองของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางเคยใช้เป็นทุนสำรองมีการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงและส่งผลต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้มีการเปลี่ยนมาถือครองทองคำ ซึ่งในอดีตธนาคารกลางเป็นกลุ่มที่ขายทองคำอย่างต่อเนื่อง

      ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการขายทองคำลดลง ตามข้อตกลง Central Bank Gold Agreement ซึ่งกำหนดให้ธนาคารกลางขนาดใหญ่รวม IMF ขายทองคำออกได้ไม่เกินข้อตกลง โดยล่าสุดอยู่ในฉบับที่ 3 (CBGA3) ซึ่งมี limit ต่อปีไม่เกิน 400 ตัน แต่จะเห็นว่าธนาคารกลางแทบไม่มีการขายออกตั้งแต่ช่วงปี 2552 การขายทองคำจำนวนมากเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการขายของ IMF ช่วงต้นปี 2553 จำนวน 129.1 ตัน สะท้อนให้เห็นการสะสมทองคำของธนาคารสำคัญที่เพิ่มขึ้น

     การถือครองของกองทุน ETF สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2555 กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลก มีระดับการถือครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นมุมมองของผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยต่อการลงทุนทองคำ ซึ่งปัจจุบันถือครองสูงกว่า 1,300 ตัน หลังจากมีแรงขายในช่วงต้นถึงกลางปี 2555

   จะเห็นได้ว่าความต้องการทองคำในส่วนของทุนสำรองและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการในส่วนของกลุ่มเครื่องประดับกลับลดลงซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคทองคำมากที่สุดประเทศหนึ่งมีการปรับเพิ่มภาษีสำหรับนำเข้าทองคำเป็น 4% แต่เชื่อว่าจะกระทบต่ออุปสงค์เล็กน้อย

  ด้านอุปทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยยอดรวมของอุปทานทองคำในปี 2552-2554 เท่ากับ 4,109, 4,350 และ 4,497 ตัน ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการผลิตทองคำใหม่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยโดยรวมแล้วถือว่าโอกาสทองคำยังคงมีในปี 2556 อย่างไรก็ดีความผันผวนของราคาน่าจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นท่านสมาชิกควรให้ความระมัดระวังและติดตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาอย่างใกล้ชิดครับ ฉบับนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ

 

ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2555
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ
Hit Counter
ผู้ชม