*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

Thai Goldsmith Gallery หอเครื่องทองไทย เครื่องทองจากงานหัตถศิลป์

ณ วันที่ 23/12/2557

HTML Editor - Full Version

   พื้นที่ 460 ตารางเมตร ภายในศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. คือ ที่ตั้งของ “หอเครื่องทองไทย (THAI GOLDSMITH GALLERY)” แหล่งเรียนรู้สำคัญเรื่องเครื่องทองลวดลายโบราณที่ผลิตด้วยฝีมือช่างทองผู้เชี่ยวชาญในงานหัตถศิลป์ชั้นสูง และเป็นสิ่งล้ำค่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน

    นายกุญญพันธ์ แรงขำ (อดีต) ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า หอเครื่องทองไทย เป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงงานหัตถศิลป์ของเครื่องทองลวดลายโบราณที่ทำจากทองคำแท้ทั้งหมด เครื่องทองเหล่านี้มีความแตกต่างจากทองรูปพรรณทั่วไปที่มีความวิจิตรบรรจงละเอียดอ่อนของลวดลาย เพราะเป็นการผลิตงานหัตถศิลป์ ซึ่งแต่ละชิ้นต้องใช้เวลานานนับเดือน จึงทำให้มูลค่าสูงกว่าทองคำทั่วไปหลายเท่าตัว อีกทั้งปัจจุบันเครื่องทองที่เป็นงานหัตถศิลป์ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง

    ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเยี่ยมชม จะได้รับความรู้ตั้งแต่เรื่องแหล่งวัตถุดิบ  กระทั่งกลายเป็นเครื่องทองจากช่างสกุลต่างๆ ซึ่งแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน คือ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับทอง แสดงต้นกำเนิดทองคำ ตั้งแต่เป็นสายแร่ที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าที่แทรกซึมในชั้นหินต่างๆ ก่อนจะแยกออกมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลอมออกมาเป็นก้อนทองคำซึ่งป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องทอง

   ถัดมาเป็น ส่วนประวัติช่างทองไทย จัดแสดงประวัติความเป็นมาของช่างทองสกุลต่างๆ ตลอดจนลวดลายและกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ หาดูยาก และเริ่มจะสูญหายไป เนื่องจากวิชาการทำเครื่องทองสมัยโบราณไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ถ่ายทอดกันเฉพาะเครือญาติหรืออาจารย์รับศิษย์เพียงไม่กี่คน ทำให้ปัจจุบันเหลือสกุลช่างทองอยู่เพียง 3 สกุล ที่สามารถนำมาจัดแสดงได้คือ สกุลช่างทองสุโขทัย สกุลช่างทองเมืองเพชร และสกุลช่างทองถมนคร

    สกุลช่างทองสุโขทัย เป็นตระกูลช่างที่ผลิตเครื่องทองสุโขทัยหรือที่เรียกว่าทองรูปพรรณศรีสัชนาลัย ที่ใช้การขึ้นรูปจากทองบริสุทธิ์ร้อยละ 99.99 ส่วนลวดลายจะคิดค้นลอกเลียนแบบลวดลายเครื่องเงินเครื่องทองโบราณ ลวดลายงานประติมากรรมรูปเคารพ ลายรูปปูนปั้น และจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งลวดลายประยุกต์ที่ทันสมัย อาทิ ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว ลายช้าง ลายนาค ลายกระจัง ลายอุบะ ลายดวงไฟตามดิสโก้เธค ลายหัวใจ ลายเสื่อ ลายเกลียวคลื่น เป็นต้น รวมทั้งมีกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากเป็นงานสร้อยถัก จะนำทองรีดและดึงจนได้ทองที่มีขนาดเล็กมาร้อยผูกกันตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไป เรียกว่า สร้อยถักสามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา แปดเสา และงานฉลุ จะเป็นการประดิษฐ์ชิ้นงานโดยวิธีฉลุให้เกิดความโปร่งตามลวดลาย เป็นต้น

    ขณะที่ สกุลช่างทองเมืองเพชร เป็นสกุลช่างที่สืบทอดทักษะเชิงช่างมาจากงานสมัยอยุธยา หากแต่มีการพัฒนาต่อยอดกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นิยมทำเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู อาทิ ลายดอกพิกุล ลายบัวสัตตบงกช (กระดุม) ลายงูพญานาค และมังกร ลายบัวจงกลและมณฑป และมีกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ คือการขัดมัน โดยใช้ตะไบลบเหลี่ยมห่วงของสร้อยตลอดเส้น ทำให้สร้อยเป็นห่วงกลมเกลียวกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน เสมาหรือปลา เป็นการทำเป็นแผ่นทอง แล้วดุนให้เป็นลวดลายเสมาหรือปลา การทำสมอเกลียว เป็นการนำทองมาขดเป็นห่วงแล้วเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ช่างสกุลนี้ยังผลิตก้านบัว หรือกำไลข้อเท้าสำหรับเด็กในสมัยก่อน มีลักษณะเป็นห่วงขนาดใหญ่ กลมเกลี้ยง

    ส่วน สกุลช่างถมนคร ผลิตเครื่องถมทองและเงิน โดยเฉพาะเครื่องถม เพื่อเป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องราชบรรณาการ เครื่องถมของสกุลช่างนคร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือการถมดำ หรือถมเงิน เป็นการนำเนื้อถมลงไปบนพื้นภาชนะตามร่องลาย เป็นสีดำมัน เนื้อถมจะขับลวดลายที่เป็นเส้นเงิน เฉพาะตรงที่ต้องการให้เป็นสีทองเท่านั้น และถมทอง เป็นการใช้น้ำปรอทที่มีทองคำทาบนลวดลายทั้งหมด ให้มีลายทองมาก ทำให้ภาชนะหรือเครื่องประดับนั้นมีลวดลายสีทองบนพื้นดำ

    นอกจากนี้ ยังมี ส่วนสาธิตกรรมวิธีการผลิต ตั้งแต่การหลอมทองคำเป็นวัตถุดิบ จนกระทั่งผลิตขึ้นเป็นชิ้นงานพร้อมทั้งจัดแสดงอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการทำทอง อาทิ แป้นชักลวด อุปกรณ์สำหรับผลิตเส้นทองให้มีความหนาและยาวให้ได้ตามต้องการ เครื่องเป่าแล่น เป็นเครื่องให้ความร้อนเพื่อทำให้ทองอ่อนตัวและง่ายต่อการขึ้นรูป รวมถึงยังแสดงขั้นตอนการขึ้นรูปและการทำลวดลายต่างๆ

    สำหรับส่วนที่เป็นไฮไลต์ คือ ส่วนจัดแสดงชิ้นงานจากฝีมือช่างสกุลต่างๆ เครื่องทองทุกชิ้นเป็นทองคำแท้ทั้งหมด แต่ละชิ้นมีลวดลายที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน และมีข้อมูลเทคนิคที่ใช้ในการผลิต น้ำหนักทอง และราคาแสดงไว้ด้วย อาทิ กำไลประดับพลอยนพเก้า ประกอบด้วยอัญมณี 9 ชนิด คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ ที่เชื่อว่าจะนำสิริมงคลมายังผู้สวมใส่ กำไลพญานาค ที่ผลิตด้วยเทคนิคงานช่างทองหลวง เช่น การสลักดุน การลงยาสี และการประดับพลอยแบบโบราณ และแหวนลูกไม้ประดับรัตนชาติ 3 สี เพื่อนำสิริมงคลมาสู่ผู้ครอบครอง โดยใช้เทคนิคการฝังหุ้มอัญมณีแบบโบราณ แต่ละชั้นแต่งลายด้วยลวดเกลียวและเม็ดไข่ปลาขณะที่แหวน หรือกำไลพิรอด ที่ถือเป็นเครื่องรางให้แคล้วคลาดจากภยันตราย โชคร้ายและความชั่วร้าย มาทำเป็นเครื่องประดับที่นิยมฝังพลอยนพเก้า ไม่เพียงเท่านี้ยังมีส่วนจำหน่ายเครื่องทองไทยฝีมือเยี่ยม จากช่างกาญจนาภิเษกวิทยาลัยและช่างทองหลวง อีกด้วย

    นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสาระความรู้ที่ได้รับจากหอเครื่องทองไทย หอแห่งความรู้ด้านทองคำครบวงจรแห่งแรกของไทย ที่เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ที่ชั้น 3 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เลขที่ 59 หมู่ที่ 4 ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 13290 ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 0-3536-7054 หรือทางเว็บไซต์ www.sacict.net

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 22 เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม พ.ศ.2552

Free Web Site Counter
ผู้ชม