*** หมายเหตุ : ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ตามหลักเกณฑ์ สคบ.กำหนดให้ร้านทองสามารถหักได้ไม่เกิน 5% จากราคาทองคำแท่งรับซื้อในวันนั้น ๆ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อ-ขายร้านเดิมเท่านั้น ***

เที่ยวน่าน นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง

ณ วันที่ 20/01/2558

HTML Editor - Full Version

     น่าน ดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันงดงาม ที่สืบทอดกันมากว่า 600 ปี และมีพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง อันเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรเถาะ เป็นปูชนียสถานสำคัญประดิษฐานเป็นมงคลอยู่

    พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง แฝงด้วยปรัชญาธรรมอันสูงส่ง ตั้งแต่นาม “แช่แห้ง” ที่ปราชญ์โบราณกล่าวไว้ว่าการ “แช่” อยู่ในกิเลสตัณหา ไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งการจะทำตัวให้ “แห้ง” หรือหลุดพ้นได้ คือ การดับเสียซึ่งกิเลสตัณหาเหล่านั้น

    มีบันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองน่านว่า พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง สร้างขึ้นเมื่อปี 1891 ในสมัยพระยาการเมืองเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทองที่พระยาการเมืองได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งไปช่วงสร้างวัดหลวงอภัย ที่กรุงสุโขทัย

    ส่วนที่เป็นตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์เดินทางเผยแผ่พระศาสนามาถึงเมืองนันทบุรี (เมืองน่านในอดีต) และประทับอยู่ ณ ริมน้ำห้วยไคร้ เจ้าผู้ครองนครนามว่า พญามลราช และ เทวีสัณฐมิต พระมเหสี ได้ถวายผ้าสรงน้ำแด่พระพุทธองค์ เมื่อทรงรับเอาผ้านั้นมาสรงน้ำแล้ว ผ้าผืนนั้นก็กลายเป็นแผ่นทองคำ เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ชาวเมือง พระอานนท์ ซึ่งตามเสด็จด้วย ได้กราบทูลขอพระเกศาไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียร ได้พระเกศามาองค์หนึ่ง แล้วตรัสว่า “เมื่อเราดับขันธปรินิพพานแล้ว จงนำธาตุกระดูกข้อมือด้านซ้ายไว้กับพระเกศาในที่นี้เถิด”

    พระมหาเจดีย์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้สูงใหญ่และงดงามยิ่งขึ้นหลายครั้ง โดยเจ้าผู้ครองนครน่านในเวลาต่อมาหลายพระองค์

    ภายในอาณาบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุอันควรค่าแก่การเคารพอีกมาก ทั้งพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับองค์พระธาตุแช่แห้ง

    พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีหลังคาซ้อนเป็นเชิงชายออกเป็นชั้นๆ มองดูภายนอกเสมือนเรือสำเภาลำใหญ่ที่นำวิญญาณผ่านวัฏสงสารสู่พระนิพพาน เสาคู่ด้านหน้าตรงทางเข้า มีลวดลายปูนปั้นสกุลช่างเมืองน่าน ที่หาดูที่ไหนไม่ได้แล้ว ฐานชุกชีในพระวิหารหลวง แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ด้านหน้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย พระนามว่า พระเจ้าก๋าคิง ชั้นที่ 2 มีพระพุทธรูปอยู่ 8 องค์ พระประธานปางสมาธิก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองประทับอยู่บนกลีบบัว นามว่าพระเจ้าอุ่นเมือง องค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยปูนลงรักปิดทองประทับบนกลีบบัวนามว่าพระเจ้าล้านทอง องค์ที่ 3 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับบนฐานลายดอกพุดตาน องค์ที่ 4 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานกระต่ายชมจันทร์ องค์ที่ 5 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์ที่ 6 เป็นพระพุทธรูปไม้ประทับยืน องค์ที่ 7 และ 8 เป็นพระพุทธรูปปางเทวดาประทับยืน โดยนำทองที่ได้จากการบูรณะองค์พระธาตุแช่แห้งในปี 2536 มาหล่อขึ้นใหม่ ในปี 2548

    นอกจากนี้ ยังมีแมงหม่าเต้า น้ำบ่อทิพย์ วิหารพระพุทธไสยาสน์ พระเจ้ามหาอุตม์ และศาลท้าวขาก่าน เป็นที่สักการบูชาของผู้มาเยือนอีกด้วย

     ทุกๆ ปี จะมีเทศกาลนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ หรือราวเดือนมีนาคม เรียกว่า “ประเพณีหกเป็ง นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง” ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีการแห่ผ้าทิพย์ห่มพระมหาธาตุ ประกอบด้วยขบวนแห่แสง สี เสียง สื่อผสมตระการตา และให้ประชาชนร่วมกันสรงน้ำพระธาตุด้วยน้ำทิพย์เพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของชาวน่านอีกมากมาย

    นอกจากจะได้สัมผัสดินแดนแห่งขุนเขา ซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติอันงดงาม และมีสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะตัวที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังแล้ว พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้งยังเหมาะแก่การสักการะ ที่ทุกคนไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ที่มา : วารสารทองคำฉบับที่ 30 เดือนมีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ.2554

Free Site Counter
ผู้ชม