จากข่าวเกี่ยวกับ “บ้านออมทอง” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้ หลายคนอาจถูกชักชวนให้ลงทุนในระบบนี้ โดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นร้านทองที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่แท้จริงแล้ว “บ้านออมทอง” เหล่านี้ ไม่ใช่ร้านทอง ไม่ได้มีธุรกิจร้านค้าทองอยู่เลย และมีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท
โดยรูปแบบการชักชวนลงทุนมักใช้วิธีการหลอกลวง เช่น เสนอโปรโมชั่นชักชวนให้มาออมทอง ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าราคาทองคำในท้องตลาดขณะนั้น เพื่อชักจูงให้คนเข้ามาออมทอง จากนั้นนำเงินที่ได้มาจากการออมทองของลูกข่ายไปหมุน และแบ่งจ่ายให้ลูกข่ายต่อไปเรื่อยๆ กล่าวโดยสรุปคือ เงินที่ได้มานั้น ไม่ได้มาจากผลกำไรที่แท้จริง แต่มาจากเงินของสมาชิกใหม่นั่นเอง
ซึ่งในที่สุดแล้ว ระบบนี้จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เมื่อไม่มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามา ทำให้ผู้ที่ลงทุนในช่วงหลังต้องเสียเงินไปโดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ การลงทุนในลักษณะนี้ ทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสียทั้งในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อสร้างเกราะป้องกันภัย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน ดังนี้
1. ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน มิจฉาชีพมักอาศัยความไม่เข้าใจในเรื่องการลงทุนทองคำ หุ้น หรือคริปโทเคอร์เรนซี มาชักชวน จึงควรศึกษาความรู้การลงทุน เพราะการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง การันตีผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ได้
2. มีสติ คิดก่อนตัดสินใจ เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุน บีบให้ตัดสินใจ เน้นหาเครือข่ายโดยให้ผลตอบแทนสูง แต่จับต้องธุรกิจนั้นไม่ได้ ต้องระวังให้มาก หากเป็นการชักชวนลงทุน/หรือออมทองคำ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ประกอบการค้าทองคำจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจรายชื่อสมาชิกสมาคมค้าทองคำ ได้จาก https://goldtraders.or.th/MemberZones.aspx หรือสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์โลโก้สมาชิกสมาคมค้าทองคำที่ติดหน้าร้านทองก็ได้เช่นเดียวกัน
3. รู้ผลกระทบที่มากกว่าเสียเงิน หากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินไปแล้ว แต่ถ้าเราไปชักชวนคนอื่นมาลงทุนแชร์ลูกโซ่ ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน
4. ตื่นตัวและติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะมีวิธีหลอกลวงใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพจาก: https://www.sec.or.th/TH/Pages/SCAMCENTER-01-03.aspx
หากท่านพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่สงสัยว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 1359
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โทร. 1202
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจอันเกี่ยวข้องกับทองคำ เช่น การลงทุนทองหรือการออมทอง ควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมค้าทองคำ โทรศัพท์ 0-2020-9000 หรือลิงก์ https://goldtraders.or.th เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
สรุป
บ้านออมทองที่กำลังมีประเด็นในปัจจุบัน ไม่ใช่ร้านทอง แต่เป็นแชร์ลูกโซ่ที่แฝงตัวมาในรูปแบบการลงทุนโดยอ้างคำว่า “ออมทอง” ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวัง และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินและปัญหาทางกฎหมายในอนาคต หากพบพฤติกรรมที่สงสัยว่าเป็นการหลอกลวง ควรแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป